เปิดข้อมูล 10 ปี ไทยเกินดุลการค้าสหรัฐ ผวา “ทรัมป์” คัมแบ็ก สั่งขึ้นภาษี 20%

26 ต.ค. 2567 | 10:06 น.
อัปเดตล่าสุด :26 ต.ค. 2567 | 11:26 น.

เปิดข้อมูลการค้าไทย-สหรัฐ รอบ 10 ปี ไทยเกินดุลต่อเนื่อง ผวา “ทรัมป์”คัมแบ็ก นั่งประธานาธิบดีรอบใหม่ สั่งขึ้นภาษีสินค้าไทยอีก 10-20% ตามขู่ หวั่นกระทบขีดแข่งขัน หลังส่งออกไปทดแทนสินค้าจีนได้มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

สหรัฐอเมริกา เป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย รองจากจีน(ส่งออก+นำเข้า) แต่หากนับเฉพาะการส่งออก สหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย โดยปี 2566 การส่งออกของไทยไปสหรัฐ มีสัดส่วน 16.96% ของการส่งออกไทยไปทั่วโลก และในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2567 สหรัฐยังเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 สัดส่วน 18.05% ของการส่งออกไทยในภาพรวม

แน่นอนว่าศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ (คนที่ 47) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายนนี้ จะมีความหมายหรือนัยสำคัญต่อทิศทางเศรษฐกิจ การค้า การลงทุนของโลก รวมถึงต่อประเทศไทย จากสหรัฐเป็นมหาอำนาจด้านเศรษฐกิจอันดับ 1 ของโลก

ทั้งนี้จากการรวบรวมข้อมูลจากกระทรวงพาณิชย์ โดยความร่วมมือจากกรมศุลกากรของ “ฐานเศรษฐกิจ” ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2558- 8 เดือนแรกปี 2567) การค้าไทย-สหรัฐขยายตัวเพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี โดยที่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลหรือได้ดุลการค้าสหรัฐมาโดยตลอด (กราฟิกประกอบ)

อย่างไรก็ดีในมุมมองของผู้นำภาคเอกชน ระบุเป็นที่น่าจับตามองหาก “โดนัลด์  ทรัมป์” ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐอีกรอบ ไทยมีความสุ่มเสี่ยงที่จะถูกสหรัฐตรวจสอบ เพื่อใช้มาตรการทางการค้าเพื่อลดการขาดดุลของสหรัฐ แต่หาก "กมลา แฮร์ริส" ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ไทยคงได้รับผลกระทบไม่มาก เพราะนโยบายการค้าคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในสมัยประธานาธิบดี "โจ ไบเดน" มากนัก

การค้าไทย-สหรัฐรอบ 10 ปีขยายตัวต่อเนื่อง

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การหาเสียงเลือกตั้งในสหรัฐช่วงโค้งสุดท้ายในเวลานี้  กระแสคะแนนนิยมของ “โดนัลด์ ทรัมป์” จากพรรครีพับลิกัน เริ่มตีตื้นขึ้นมา และในบางรัฐที่เป็นสวิงสเตท (เช่น แอริโซนา, จอร์เจีย, มิชิแกน, นอร์ทแคโรไลนา และเพนซิลเวเนีย) คะแนนนิยมของทรัมป์ เริ่มแซง “กมลา  แฮร์ริส” ผู้สมัครชิงประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต

คาดในช่วงอีกไม่ถึงสองสัปดาห์ที่เหลือนี้ จะเป็นช่วงที่มีความสูสีกันมาก เพราะฉะนั้นแฮร์ริส จำเป็นที่จะต้องรีบแก้เกม หากยังปล่อยให้สถานการณ์เป็นแบบนี้ คะแนนเสียงของทรัมป์จะเร่งขึ้นมาแซงได้ และอาจได้รับชัยชนะในที่สุด

ทั้งนี้หากทรัมป์ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่อาจจะสั่งให้มีการตรวจสอบประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐ และใช้มาตรการทางการค้า เพื่อลดการขาดดุลเหมือนที่เคยเกิดขึ้นแล้วในช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (20 ม.ค. 2560-20 ม.ค. 2564)

โดยสหรัฐในครั้งนั้นได้ระบุไทยดำเนินมาตรการที่ทำให้เงินบาทอ่อนค่าเกินจริง ทำให้ได้เปรียบการแข่งขันและได้ดุลการค้าสหรัฐมาก ซึ่งก็ไม่ได้ใช้มาตรการอะไรที่รุนแรงกับไทยนัก แต่ได้มุ่งไปที่จีนที่เกินดุลการค้าสหรัฐมากเป็นอันดับ 1 โดยสั่งขึ้นภาษีสินค้าจากจีน (นำสู่สงครามการค้าสหรัฐ-จีน ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน)

เกรียงไกร  เธียรนุกุล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“หากถามว่าถ้าทรัมป์กลับมาในรอบนี้ มองว่าอย่างไร เขาอาจขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจาก ประเทศที่เป็นคู่ค้าที่ได้ดุลการค้าสหรัฐมากอย่างน้อย 10-20% ตามที่เคยประกาศไว้ และกรณีพิเศษคือจีน จะขึ้นอย่างน้อย 60% ถึง 100% แล้วแต่สินค้า

ดังนั้นประเทศไทยรวมถึงทุกประเทศมีสิทธิ์ที่จะถูกสหรัฐขึ้นภาษีนำเข้าสินค้า หากโดนัลด์ทรัมป์ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดีในรอบใหม่ จากช่วงที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี  ไทยเป็นประเทศที่เกินดุลการค้าสหรัฐอยู่ในลำดับที่ 14 และปัจจุบันในช่วงประธานาธิบดีไบเดน เราขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 12"

ทั้งนี้หากจะไม่ให้สหรัฐขึ้นภาษี ก็คงจะต้องมีการเจรจาการค้ากันแบบ “หมูไป ไก่มา” คือแลกเปลี่ยนผลประโยชน์กัน ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องตั้งรับ เพราะการค้าไทย-สหรัฐเป็นส่วนหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยที่ยังพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และลุ้นเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ที่ระดับ 3% ในปีหน้า จากในปีนี้ทุกสำนักพยากรณ์คาดเศรษฐกิจหรือจีดีพีไทยจะขยายตัวได้ระหว่าง 2.6-2.8% ขณะที่ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโตต่ำกว่าศักยภาพ ขยายตัวเฉลี่ยไม่เกิน 2% ต่อปี

“ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้การส่งออกของไทยไปสหรัฐมีมูลค่ากว่า 35,593 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 11.73% ซึ่งต้องคอยดูว่าใครจะได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาคนใหม่ หากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมาเป็นประธานาธิบดี จะมีผลกระทบในเชิงบวกหรือเชิงลบ เพราะนโยบายของทรัมป์ค่อนข้างให้ความสำคัญอย่างมากกับการขาดดุลทางการค้ากับประเทศคู่ค้า"

สำหรับการเกินดุลการค้าของไทยต่อสหรัฐ ที่ขยับขึ้นมาอยู่ที่อันดับที่ 12 ในเวลานี้ ส่วนหนึ่งเกิดจากไทยสามารถส่งออกสินค้าไปสหรัฐได้เพิ่มขึ้น เพื่อทดแทนสินค้าจีนที่ถูกสหรัฐขึ้นภาษีสูงซึ่งเป็นผลจากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน ส่วนในอาเซียนยังมีเวียดนาม และมาเลเซียที่เกินดุลการค้าสหรัฐมากกว่าไทย