ชำแหละ“ทรัมป์-แฮร์ริส”ผลได้-ผลเสียประเทศไทย สงครามคู่ไหนยุติ-ไปต่อ

05 ต.ค. 2567 | 22:21 น.

บิ๊กสภาอุตฯวิพากษ์ “ทรัมป์-แฮร์ริส” เข้าวินประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ กระทบค้าไทย-สหรัฐเปลี่ยนโฉมหน้า จี้ทำการบ้านรับมือ ลุ้นสงครามรัสเซีย-ยูเครนยุติ ทรัมป์พร้อมจับคุย “ปูติน”ช่วยสงบศึก แฮร์ริสมา สงครามตะวันออกกลางและหลายคู่ของโลกปะทุต่อ

นายเกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) วิพากษ์ศึกเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ประเทศมหาอำนาจเบอร์ 1 ของโลกที่จะมีขึ้นในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 นี้ ว่า จะมีผลกระทบต่อโลก และไทยในหลายมิติ

สำหรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และการค้าไทย อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน และนางกมลา  แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต มีนโยบายในการหาเสียงด้านต่าง ๆ ที่แตกต่าง ทั้งนี้หากแฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ (คนที่ 47) คาดภาพรวมนโยบายด้านเศรษฐกิจ และด้านต่างประเทศจะยังคล้ายเดิมในยุคของประธานาธิบดีโจ ไบเดน และจะมีเพิ่มเติมในบางอย่าง แต่นโยบายโดยรวมจะยังคล้ายเดิม ส่วนหากโดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นประธานาธิบดี จะใช้นโยบายหลักคือ "Make America Great Again"

ปัจจุบันสหรัฐอเมริกาเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของไทย (รองจากจีน ไม่นับรวมอาเซียน) ขณะที่ในแง่การส่งออกสหรัฐเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย ถือเป็นตลาดที่สำคัญ และในภาพรวมของการค้าไทยกับสหรัฐ ไทยเป็นฝ่ายได้ดุลการค้าเป็นบวก เฉลี่ยปีหนึ่งมากกว่า  20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดี น่าจะส่งผลด้านบวกต่อประเทศไทยมากกว่าด้านลบ ภายใต้นโยบายที่ทั้งสองพรรคยังดำรงเหมือนกันคือมองจีนยังเป็นคู่แข่งหรือเป็นศัตรูหมายเลขหนึ่งของสหรัฐ

เกรียงไกร  เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

“ดังนั้นไม่ว่าใครจะมาเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ก็น่าจะเป็นประโยชน์ด้านการค้า ที่จะมาซื้อสินค้าและนำเข้าสินค้าจากแถบประเทศอาเซียน รวมถึงไทยแทนการนำเข้าจากสินค้าจีนมากขึ้น ไทยจะยังได้อานิสงส์รวมทั้งประเทศในอาเซียนที่เป็นผู้ผลิตสินค้าส่งออกรายสำคัญไปสหรัฐ”

อีกด้านหนึ่งจะได้รับผลด้านบวก จากการย้ายฐานการผลิตของสหรัฐมายังประเทศในอาเซียน ที่ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ในจอเรดาร์ของสหรัฐที่จะมาลงทุน เฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจคลาวด์ เซอร์วิส และดาต้า เซ็นเตอร์ ที่ล่าสุดยักษ์ใหญ่ Google ก็เข้ามาลงทุนในไทยและในอาเซียน รวมถึงในอนาคตอาจจะมีการลงทุนในการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และอื่น ๆ ตรงนี้มองเป็นโอกาสของประเทศไทยเช่นกัน

อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมีความกังวลหากทรัมป์ได้กลับเป็นประธานาธิบดี เพราะในยุคที่ทรัมป์เป็นประธานาธิบดี เคยประกาศจะตรวจสอบเพื่อใช้มาตรการกับประเทศที่เกินดุลการค้ามากกับสหรัฐ ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในนั้น ในเรื่องนี้ยอมรับมีความน่ากังวลเช่นกัน เพราะอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะมองผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจเป็นตัวตั้ง โดยมักจะนำมาตรการที่เป็นอุปสรรคทางการค้า หรือมีการสร้างเงื่อนไขต่าง ๆ ให้เราทำงานยากขึ้น

“ในช่วงหนึ่งเราได้ดุลการค้าสหรัฐเกิน 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งอยู่ในลำดับที่ 13 ของโลกที่ได้ดุลการค้าสหรัฐ ตอนนั้นประธานาธิบดีทรัมป์ ก็มองว่าค่าเงินบาทของไทยอ่อนเกินไปเป็นสาเหตุที่ทำให้เราได้ดุลการค้าสหรัฐมาก ก็เลยมีการเข้มงวดทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามความเป็นจริง เปรียบเสมือนการเล่นกอล์ฟที่ให้แฮนดี้แคป หรือแต้มต่อกับเรา”

ท่ามกลางปัญหาดังกล่าวอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็มีข้อดีเพราะเป็นนักธุรกิจ ซึ่งสามารถเจรจาแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ในเรื่องอื่น ๆ กันได้  ทั้งนี้ไม่ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะเป็นใคร ไทยจะต้องทำการบ้านไว้ก่อน หากไทยมีข้อเสนอที่ดีและมีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ที่เหมาะสมเชื่อว่าคงผ่านไปได้

ขณะเดียวกันหากนางกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งจะมีนโยบายค่อนข้างเข้มงวดและจะใช้มาตรการผ่านกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิกที่มีสหรัฐเป็นแกนนำเพื่อคานอำนาจจีน ผ่านการค้า การลงทุนในภูมิภาคนี้อย่างเข้มข้น แน่นอนว่าประเทศไทยจะต้องมีการวางตัวที่เหมาะสมจากสหรัฐกดดันให้เลือกข้าง

อย่างไรก็ตาม จากที่ปัจจุบันมีความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์เกิดขึ้นในหลายคู่ของโลก ทำให้โลกตกอยู่ในความตรึงเครียด และเปราะบางสุ่มเสี่ยงเกิดสงคราม ที่เกิดขึ้นแล้วคือสงครามรัสเซีย-ยูเครน และที่ยังตึงเครียด เช่น ในทะเลจีนใต้ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีน ในช่องแคบไต้หวันระหว่างจีนกับไต้หวัน และช่องแคบเกาหลีระหว่างเกาหลีเหนือ กับเกาหลีใต้และญี่ปุ่น รวมถึงสงครามในตะวันออกกลางระหว่างอิสราเอล-อิหร่านที่ทั่วโลกกำลังจับตามองว่าอิสราเอลจะตอบโต้เอาคืนอิหร่านอย่างไร

“ในส่วนของสงครามรัสเซีย-ยูเครนโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศไว้ว่า เขาจะเป็นคนเจรจากับประธานาธิบดีปูติน ของรัสเซีย เพื่อให้ยุติสงครามภายใน 24 ชั่วโมง และยังหาเสียงอีกว่า กรณีไต้หวันกับจีน ถ้าจะให้สหรัฐคุ้มครอง ไต้หวันจะต้องจ่ายค่าคุ้มครองให้สหรัฐ รวมถึงพูดถึงนาโต้ด้วยว่าหากได้เป็นประธานาธิบดี จะขอให้ประเทศสมาชิกนาโต้ทุกประเทศ ต้องเพิ่มงบประมาณทางการทหารอย่างน้อยให้เป็นหลายเปอร์เซ็นต์ของจีดีพี ไม่ใช่พึ่งพาแต่สหรัฐ”

สิ่งเหล่านี้ต้องดูนโยบายต่างประเทศของแต่ละคนที่แตกต่างกัน แต่จะมีผลต่อโลก ต่อเศรษฐกิจโลก ถ้าสงครามยังดำรงอยู่ แต่หากกมลา แฮร์ริส ได้เป็นประธานาธิบดีคนใหม่ แน่นอนนโยบายของพรรคเดโมแครต ยังให้ความสำคัญกับการครองความเป็นมหาอำนาจหนึ่งเดียวของโลกของสหรัฐ นโยบายอินโด-แปซิฟิกจะเข้มข้น ความตึงเครียดในเรื่องสงครามก็อาจจะเกิดขึ้นได้มาก ซึ่งต้องติดตามผลการเลือกตั้งผู้นำสหรัฐ เพราะจะส่งผลกระทบต่อโลก และต่อไทยไม่มากก็น้อยแน่นอน