นับตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบัน เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่รัฐบาลได้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (ประมง IUU) ให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพยุโรป (อียู) ส่งผลให้มีเรือประมงจำนวนหนึ่งไม่สามารถทำประมงได้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เจ้าของเรือต้องแบกรับค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาเรือ
ทั้งนี้เพื่อเป็นการรักษาสมดุลของจำนวนเรือประมงพาณิชย์กับปริมาณสัตว์นํ้า รวมทั้งการชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือที่ได้รับผลกระทบ รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ แบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 คณะรัฐมนตรี (ครม.) จ่ายเงินชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือประมงไปแล้วจำนวน 305 ลำ (จากทั้งหมด 570 ลำ) งบประมาณ 764.45 ล้านบาท และระยะที่ 2 ครม.มีมติอนุมัติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ 59 ลำ วงเงิน 287.18 ล้านบาท และมีการแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด คือ งวดที่ 1 จ่ายเงินร้อยละ 30 ของจำนวนเงินค่าชดเชย เป็นค่าใช้จ่ายในการแยกชิ้นส่วนเรือหรือทำลายเรือประมง งวดที่ 2 จ่ายเงินร้อยละ 70 ของจำนวนเงินค่าชดเชย โดยจ่ายหลังจากเจ้าของเรือแยกชิ้นส่วนเสร็จหรือทำลายเรือประมงเรียบร้อยแล้ว
ล่าสุด นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากมติคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการประมงทะเล เพื่อฟื้นฟูการประมงทะเลและอุตสาหกรรมการประมง ในคราวการประชุมครั้งที่ 2/2567 (9 ส.ค.67) มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ได้มีมติโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบ เพื่อการจัดการทรัพยากรประมงทะเลที่ยั่งยืน โดยจะมีการซื้อเรือคืนจากชาวประมงจำนวน 923 ลำ ใช้งบกว่า 1,622 ล้านบาท ซึ่งต้องทำโครงการใหม่ เพราะหากเป็นจัดซื้อจัดจ้าง จะขัดกับกฎหมายหลายฉบับ
อีกทั้งยังมีข้อกังวลจากหลายหน่วยงาน อาทิ การซื้อเรือคืนเพื่อนำเรือออกนอกระบบ หน่วยงานที่จะรับผิดชอบมีอำนาจในการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ถ้ารับซื้อเรือคืนต้องมีสถานที่เก็บ สถานที่ทำลายเรือ และหน่วยงานที่รับผิดชอบจะต้องทำการวิเคราะห์ว่าเรือที่จะรับซื้อมาอยู่ในสภาพใด ซึ่งกรมประมงอาจจะมีหลักเกณฑ์ในส่วนนี้ เช่น หลักเกณฑ์ในการที่จะซื้อมาแล้วทำลาย ซื้อมาแล้วซ่อมแซม ซื้อมาแล้วเอาไปใช้ หรือนำซ่อมแล้วเอาไปขายต่อ มีอำนาจสามารถทำได้หรือไม่
ที่สำคัญการตรวจสอบสภาพเรือจะต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นสากล หมายความว่าต้องมีหลักเกณฑ์ที่เหมือนกันในทุกหน่วยงาน ในทุก ๆ จังหวัดที่สอดคล้องกัน เพราะเรือกระจายอยู่หลายจังหวัด รวมทั้งเรื่องของความพร้อมในการรับโอนกรรมสิทธิ์เรือ จะต้องมีค่าธรรมเนียมในการรับโอนกรรมสิทธิ์หรือไม่ หรือค่าธรรมเนียมที่จะต้องเปลี่ยนแปลงสภาพเรือจากเรือประมงไปใช้เป็นเรือขนส่งคน ขนส่งสินค้า ในส่วนนี้มีค่าใช้จ่ายหรือไม่ บุคลากรเพียงพอต่อการดำเนินการหรือไม่ ดังนั้นเมื่อมีปัญหาต่างๆ เหล่านี้ คงต้องกลับไปใช้ตามเงื่อนไขในโครงการเดิมคือ “โครงการชดเชยเยียวยาให้กับเจ้าของเรือ” ที่เคยจ่ายไปก่อนหน้านี้
นายมงคล กล่าวอีกว่า อีกด้านหนึ่ง “ปลาเป็ด” ซึ่งเป็นปลาที่เรือประมงจับได้ แล้วส่งเข้าโรงงานไปผลิตเป็นปลาป่น เพื่อนำไปผสมเป็นอาหารสัตว์ต่าง ๆ อาทิ กุ้ง ปลา หมู ไก่ เป็นต้น จากที่เคยขายได้ระดับ 10 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) เวลานี้ลดเหลือ 4- 5 บาทต่อ กก. จากโรงงานอาหารสัตว์ไม่ซื้อปลาป่นในประเทศ และปลาป่นไทยก็ส่งออกไม่ได้ จากเวลานี้จีนที่เป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ติดปัญหานํ้าท่วม ประกอบกับเปรู และเมียนมาคู่แข่งสำคัญ จับปลาได้มาก และราคาถูกกว่าปลาไทย
แหล่งข่าวจากโรงงานปลาป่น กล่าวว่า จีนซึ่งเป็นประเทศผู้นำเข้าปลาป่นรายใหญ่ของโลกและเป็นตลาดส่งออกหลักของไทยมีสต๊อกปลาป่นคงเหลือในเวลานี้ค่อนข้างมากประมาณ 250,000 ตัน ประกอบกับข่าวที่ไทยมีการรับซื้อปลาหมอคางดำซึ่งเป็นปลานํ้าจืดมาผลิตเป็นปลาป่น ทำให้จีนมีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพและระดับโปรตีนของปลาป่นของไทย อีกทั้งค่าเงินบาทผันผวนส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันส่งออก
ขณะเดียวกันความต้องการใช้ในประเทศก็มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะการเพาะเลี้ยงกุ้ง จากสถานการณ์ราคาที่ไม่จูงใจ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่ทำให้ประเทศคู่ค้าชะลอการสั่งซื้อสินค้า เมื่อมีความต้องการใช้ลดลง จึงอาจทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินในประเทศ จนเป็นเหตุให้ราคาปลาเป็ดและปลาป่นยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,040 วันที่ 31 ต.ค. - 2 พ.ย. พ.ศ. 2567