นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ถึง โครงการนำเรือออกนอกระบบ” เป็นอีกหนึ่งแนวทางในการบริหารจัดการทรัพยากรประมงทะเลให้เกิดความยั่งยืน และเป็นการช่วยเหลือเยียวยาพี่น้องชาวประมงที่ได้รับผลกระทบจากการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing)
ภายใต้พระราชกำหนดการประมง 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และโครงการนำเรือประมงออกนอกระบบตามแผนบริหารจัดการประมงทะเลที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบไว้ตั้งแต่ 3 พ.ย. 2558 โดยโครงการนำเรือออกนอกระบบ เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 ซึ่งที่ผ่านมาการดำเนินโครงการในระยะที่ 1 และ 2 มีเรือที่นำออกนอกระบบและรัฐบาลจ่ายเงินเยียวยาบางส่วน
แต่ยังมีกลุ่มเรือประมงอีกจำนวนมากที่ประสงค์จะนำเรือออกนอกระบบ ได้มีการแจ้งความจำนงมาที่สมาคม ล่าสุด ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แจ้งข่าวดีว่า สำนักงบประมาณ เห็นชอบอนุมัติให้ใช้งบกลาง 1,800 กว่าล้านบาท เรียบร้อยแล้ว ในการซื้อเรือประมงคืนออกนอกระบบ 1,007ลำ
นอกจากนี้ยังได้สรุปในการเสนอแก้ไขกฎหมายลูก 19 ฉบับ ที่กรมประมงและสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย ได้หารือกันเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะประกาศใช้ทันที ทั้ง 19 ฉบับ รวมทั้งการกระจายอำนาจให้กับคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานในการให้อำนาจในการอนุญาตเครื่องมือประมงพื้นบ้านทั้ง 14 ข้อ ว่าจะอนุญาตให้ใช้ในพื้นที่เขตทะเลชายฝั่งจังหวัดของตนได้หรือไม่ ถ้าจะอนุญาตให้ใช้เครื่องมือประมงและจำนวนเครื่องมือได้สามารถพิจารณาในคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดแล้วออกประกาศจังหวัดนั้นๆโดย ขออนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ใช้ได้ของแต่ละจังหวัด โดยคณะกรรมการประมงประจำจังหวัดเป็นผู้พิจารณา
นายมงคล กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรับฟังความคิดเห็นแล้ว ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดเครื่องมือทำการประมง วิธีการทำการประมง และพื้นที่ทำการประมง ที่ห้ามใช้ทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง พ.ศ. ....โดยสามารถแสดงความคิดเห็นได้ตั้งแต่วันที่ 30 ตุลาคม 2566 – 13 พฤศจิกายน 2566 (คลิกที่นี่) นับว่าเป็นการทำงานที่รวดเร็วมาก เพราะรัฐมนตรีเข้าใจปัญหา ทำให้ทุกอย่างมีความคล่องตัว และเชื่อว่าจะสำเร็จในรัฐบาลชุดนี้
"ชาวประมง 22 จังหวัดก็ต้องขอขอบคุณรัฐมนตรีและรัฐบาลที่ให้ความสำคัญแก่ชาวประมงไม่เว้นแม้แต่การฟื้นการทำประมงนอกน่านน้ำที่กำลังเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่างๆรวมที่การเจรจากับต่างประเทศในความร่วมมือในการทำประมงนอกน่านน้ำไทย โดยให้ภาคเอกชนมีส่วนร่วม"
พลิก 14 เครื่องมือที่ห้ามใช้ทำการประมงจับสัตว์น้ำเขตทะเลชายฝั่ง
1.อวนลากทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือกล ยกเว้นอวนลากแมงกะพรุน
2. อวนล้อมจับที่มีสายมาน
3.อวนล้อมจับปลากะตัก
4.อวนติดตาปลาที่มีความยาวอวนเกินกว่า 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลํา
5.อวนปูที่มีความยาวอวนเกินกว่า 3,000 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลํา
6.อวนลอยกุ้งสามชั้นที่มีความยาวอวนเกินกว่า 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลํา
7.อวนหมึกที่มีความยาวอวนเกินกว่า 2,500 เมตร ต่อเรือประมง 1 ลํา
8. ลอบปูที่มีขนาดตาอวนโดยรอบเล็กกว่า 2.5 นิ้ว หรือใช้ทําการประมงมากกว่า 300 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลํา
9. ลอบหมึกที่ใช้ทําการประมงมากกว่า 100 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลํา
10. ลอบหมึกสายที่ใช้ทําการประมงมากกว่า 2,000 ลูก ต่อเรือประมง 1 ลํา
11. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกหมึก ที่ใชประกอบเครื่องกําเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)
12. อวนครอบ อวนช้อน หรืออวนยกปลากะตัก ที่ใช้ประกอบเครื่องกําเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ)
13.เครื่องมือทำการประมงทุกชนิดที่ใช้ประกอบเครื่องกําเนิดไฟฟ้า (เครื่องปั่นไฟ) ทําการประมง โดยใช้ไฟใต้น้ำ เพื่อล่อสัตว์น้ำ
14.คราดทุกชนิดที่ใช้ประกอบเรือยนต์