ครม.จัดงบ 2,553 ล้าน เยียวยาน้ำท่วมเกษตรกร ลดหนี้ แจกปุ๋ย พันธุ์พืช-สัตว์

05 พ.ย. 2567 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :05 พ.ย. 2567 | 08:51 น.

ครม.เห็นชอบจัดสรรงบกลางปี 2567 วงเงิน 2,553 ล้านบาท เยียวยาน้ำท่วมเกษตรกร และฟื้นฟูอาชีพ รวม 8 โครงการ ลดหนี้สินสมาชิกสถาบันเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร พร้อมแจกเมล็ดพันธุ์พืช-สัตว์ ปุ๋ย

วันนี้ (5 พฤศจิกายน 2567) ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติงบกลางฟื้นฟูเกษตรกร ผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอวงเงิน 2,553 ล้านบาท จำนวน 8 โครงการ ทั้งการฟื้นฟูอาชีพการฟื้นฟูพื้นที่การเกษตร และซ่อมแซมเครื่องจักรกลเกษตร  รวมถึงลดหนี้สินสมาชิกสถาบันเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร

สำหรับแผนงาน/โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย ปี 2567 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้ง 8 โครงการ วงเงิน 2,553 ล้านบาท มีรายละเอียดดังนี้

1.โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าวของเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัย (กรมการข้าว)

วงเงิน 1,571 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการซื้อปัจจัยการผลิตของเกษตรกร ลดต้นทุนการผลิตข้าว โดยสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าว สารชีวภัณฑ์ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ชนิดนํ้า ให้แก่เกษตรกรตามพื้นที่ปลูกข้าวจริงที่ประสบอุทกภัย สำหรับนำไปใช้เพาะปลูกข้าวในฤดูปี 2568 โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2567 - ก.ย.2568

2.โครงการสกัดการระบาดของโรคแมลงศัตรูพืช เชื้อรา และการสนับสนุนพันธุ์พืช และปัจจัยการผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติ ปี 2567/2568 (กรมวิชาการเกษตร)

วงเงิน 421 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อสนับสนุนเมล็ดพืชไร่ พืชสวน และปัจจัยการผลิตให้แก่เกษตรกรที่ประสบภัยพิบัติในปี 2567/68 โดยสนับสนุนสารเคมีป้องกันกำจัดโรค ชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืช เมล็ดพันธุ์พืชไร่และพืชสวนก้อนเชื้อเห็ดเศรษฐกิจให้แก่เกษตรกร ระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2567 - ก.ย.2568

3.โครงการฟื้นฟูเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัย (กรมหม่อนไหม)

วงเงิน 1.6 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมที่ประสบอุทกภัยโดยตรงและสนับสนุนปัจจัยการผลิตในการฟื้นฟูแปลงหน่อนหลังน้ำลดจากความสูญเสียจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น โดยสนับสนุนต้นพันธุ์หม่อน ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยเคมี ปูนขาว และโดโลไมท์ ให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนไหมในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่และแม่ฮ่องสอน ระยะเวลาดำเนินการ พ.ย.2567 - มิ.ย.2568

4.โครงการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยปี 2567 (กรมปศุสัตว์)

วงเงิน 20 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อส่งเสริมอาชีพการลี้ยงสัตว์ปีกและปลูกพืชอาหารสัตว์ สำหรับลดรายจ่าย และเพิ่มรายได้ในครัวเรือนในระยะสั้นเร่งด่วน (มีกลุ่มเป้าหมายประมาณ 2,500 ราย) โดยสนับสนุนพันธุ์สัตว์ปีกและปัจจัยการผลิต (ได้แก่ ไก่พื้นเมือง เป็ดเทศ และพืชอาหารสัตว์) พร้อมทั้งให้กรมปศุสัตว์จัดอบรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ มีระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2567 - ก.ย.2568

5.โครงการส่งเสริมทางเลือกอาชีพด้านประมง การเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก (กรมประมง)

วงเงิน 23 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติด้านประมง ปี 2567 และส่งเสริมอาชีพเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำในบ่อพลาสติกและในกระชังบก โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิตให้กับเกษตรกร ดังนี้

  • พันธุ์ปลาดุก 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง 120 กก. และบ่อพลาสติก ขนาด 35x6 ม. จำนวน 1 บ่อ/ราย 
  • พันธุ์ปลาดุก 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง 120 กก. และกระชังบก ขนาด 3x5.5x1.3 ม. จำนวน 1 กระชัง/ราย 
  • พันธุ์กบ 800 ตัว และอาหารสัตว์น้ำนำร่อง 120 กก. และกระชังบก ขนาด 2x4x1.2 ม. จำนวน 1 กระชัง/ราย 

ทั้งนี้มีระยะเวลาดำเนินการ พ.ย.2567 - ก.ย.2568

6.โครงการปรับระดับพื้นที่เกษตรและฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยระยะหลังน้ำลด ปี 2567 (กรมพัฒนาที่ดิน)

วงเงิน 182 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อสนับสนุนผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์ในการบำบัดน้ำเสียในพื้นที่น้ำท่วมขังและปรับระดับพื้นที่ให้เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายในพื้นที่เพาะปลูก รวมทั้งฟื้นฟูและปรับปรุงดินหลังน้ำลดให้เกษตรกรสามารถใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรได้ โดยสนับสนุนจุลินทรีย์เพื่อใช้ในการผลิตปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยหมัก และช่วยปรับหน้าดินให้เกษตรกร ระยะเวลาดำเนินการ ต.ค.2567 - ก.ย.2568

7.การซ่อมแซมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (กรมวิชาการเกษตร)

วงเงิน 32 ล้านบาท

สาระสำคัญ : เพื่อซ่อมแชมและฟื้นฟูเครื่องจักรกลเกษตรขนาดเล็กหลังน้ำท่วม (เช่น เครื่องตัดหญ้า เครื่องยนต์เอนกประสงค์ เครื่องสูบน้ำ เครื่องพ้นสารเคมีและชีวภัณฑ์) โดยดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือที่ประสบภัยพิบัติ 15 จังหวัด คือ เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี

โดยมีวิธีดำเนินการ เช่น ตรวจเช็คหัวเทียน เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่อง ตรวจสอบและเปลี่ยนไส้กรองอากาศ ตรวจสอบและปรับจังหวะการอีดน้ำมันเชื้อเพลิง ตรวจสอบและเปลี่ยนหัวฉีดที่ชำรุด และทดสอบแบตเตอรี่และระบบชาร์จ เป็นต้น

8.การลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกร (กรมส่งเสริมสหกรณ์)

วงเงิน 300 ล้านบาท

ทั้งนี้ในการลดภาระหนี้สินของสมาชิกสถาบันเกษตรกร/กลุ่มเกษตรกรคร้งนี้ มีโครงการย่อย คือ 

  • การลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2567 โดยรัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรแทนสมาชิก ต้นเงินกู้ไม่เกิน 300,000 บาท ในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี เป็นระยะเวลา 1 ปี ทั้งนี้ ส่วนต้นเงินกู้ที่เกินกว่า 300,000 บาท คิดดอกเบี้ยในอัตราปกติ
  • การขยายระยะเวลาการชำระหนี้สมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร โดยขอความร่วมมือให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายระยะเวลาการชำระหนี้ในสัญญาเงินกู้ของสมาชิกที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติ ด้านการเกษตร โดยความสมัครใจ
  • ชดเชยความเสียหายของทรัพย์สินของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย