“ข้าวหอมมะลิ” ข้าวพรีเมียมของไทย มีปริมาณการส่งออกในแต่ละปีเฉลี่ย 1.4-1.6 ล้านตันข้าวสาร มีตลาดหลักคือ สหรัฐฯ รองลงมาเป็นจีน, ฮ่องกง ,แคนาดา และสิงคโปร์ ทั้งนี้แม้ไทยจะเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวหอมรายใหญ่ของโลก แต่ปัจจุบันไทยต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง จากประเทศคู่แข่งที่พัฒนาพันธุ์ข้าวในกลุ่มข้าวหอมพื้นนุ่มที่มีคุณภาพใกล้เคียงกับไทย อาทิ ข้าวบาสมาติ ของอินเดีย,ข้าวหอม สหรัฐฯ (American Jasmine) ข้าวผกาลำดวนของกัมพูชา และข้าวหอม KDM (Khao Dok Mali) และข้าวหอมพันธุ์ ST21 ของเวียดนาม เป็นต้น
ล่าสุดบริษัทในสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยที่เป็นผู้ส่งออกลำดับต้น ๆ ของประเทศได้ส่งราคาล่วงหน้ามาให้โรงสีแต่ละโรงเพื่อใช้คำนวณในการรับซื้อข้าวเปลือกเจ้าหอมมะลิจากชาวนาที่กำลังออกสู่ตลาดในฤดูการผลิตใหม่โดยมีพื้นที่ใหญ่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายวิชัย ศรีนวกุล นายกสมาคมโรงสีข้าวภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ในปีนี้ทางบริษัทในสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กำหนดราคารับซื้อข้าวหอมมะลิจากโรงสีตํ่าเกินไป ซึ่งเท่าที่ดูแล้วน่าใช้อัตราแลกเปลี่ยนที่ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในการคำนวณ
ทั้งนี้ราคาล่วงหน้าที่ผู้ส่งออกส่งมาให้โรงสีเป็นดังนี้ การรับซื้อช่วงที่ 1 ตั้งแต่วันนี้ถึง วันที่ 31 ต.ค. 2567 ให้ราคาข้าวสารหอมมะลิที่ 3 หมื่นบาท/ตัน เมื่อคำนวณเป็นราคารับซื้อข้าวเปลือกความชื้น 15% อยู่ที่ 16,000 บาท/ตัน หากความชื้น 25% ราคา 13,600 บาท/ตัน ช่วงที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-10 พ.ย. 2567 แจ้งราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิที่ 28,000 บาท/ตัน คำนวณเป็นข้าวเปลือก ความชื้น 15% อยู่ที่ 15,000 บาท/ตัน หากความชื้น 25% อยู่ที่ 12,750 บาท/ตัน
และช่วงที่ 3 หลังวันที่ 15 พ.ย. 2567 เป็นต้นไป ราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิ 26,000 บาท/ตัน คำนวณเป็นราคาข้าวเปลือกความชื้น 15% อยู่ที่ 13,500 บาท/ตัน หากความชื้น 25% อยู่ที่ 11,475 บาท/ตัน
“การคำนวณที่ออกมาเป็นราคาต้นข้าว แต่ในข้อเท็จจริงจะต้องพิจารณาราคาในช่วงนั้นว่าราคาปลายข้าวหอมมะลิ รำข้าว แกลบ ต้องเอามาคำนวณทั้งหมด ถึงจะกำหนดราคาจริงได้ และขึ้นอยู่ว่าตอนเก็บเกี่ยว และมาสีแปรได้ต้นข้าวดีหรือเปล่า ถ้าประมาณการผิดก็ขาดทุน”
นายวิชัย กล่าวว่า แต่วันนี้ ค่าเงินบาทได้อ่อนค่าลงมาอยู่ที่ระดับ 33 บาทกว่าต่อดอลลาร์สหรัฐ จึงมองว่าการกำหนดราคาแบบนี้ถูกหรือไม่ ตํ่ากว่าเกณฑ์เกินไปหรือไม่ ทั้งที่ผลผลิตยังไม่ออกมาเลย หากโรงสีไปรับราคาข้างต้นมาก็จะเปรียบเสมือนไปรับความเสี่ยงให้กับผู้ส่งออก และอาจมีปัญหากับชาวนา
แต่ทั้งนี้หากรัฐบาลมีมาตรการออกมาและสามารถยกระดับราคาขึ้นได้ภายหลัง ก็จะทำให้โรงสีที่ซื้อข้าวไปแล้วขาดทุน ซึ่งหากสมาชิกสมาคมโรงสีไม่ยอมรับราคาจากผู้ส่งออกก็จะไม่มีของขาย ซึ่งในที่สุดก็ต้องเพิ่มราคาให้ ที่สำคัญไม่อยากให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาตํ่าจนเกินไป
สอดคล้องกับ นายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ราคารับซื้อข้าวสารหอมมะลิล่วงหน้าปีนี้ ราคาตํ่ากว่าปีที่แล้ว ซึ่งผู้ส่งออกอาจจะตั้งในราคาที่คาดการณ์ว่าจะนำไปขายต่อได้ ในส่วนของโรงสีซึ่งเป็นฝั่งของผู้ซื้อวัตถุดิบจากชาวนา ก็มองว่าถ้าซื้อตามราคาที่ผู้ส่งออกตั้งไว้ จะไปซื้อข้าวจากเกษตรกรได้หรือไม่ เพราะตั้งราคาตํ่าเกินไป
“หากเราไปซื้อข้าวจากชาวนาในราคาข้างต้น ต้องโดนชาวนาต่อว่าแน่นอน หากเทียบกับราคาข้าวสารหอมมะลิปี 2566/67 (ข้าวเก่า) ราคา 35,000-37,000 บาท/ตัน แต่ข้าวที่จะออกใหม่ สด นุ่มกว่า หอมกว่า แต่ทำไมตั้งราคาตํ่ามากเกินไป ตอนนี้ธนาคารก็ไม่ค่อยปล่อยสินเชื่อให้โรงสี และออกกฎระเบียบมากเกินไปทำให้ค้าขายลำบาก แล้วยังมาถูกบริษัทส่งออกกำหนดราคารับซื้อแบบนี้จะไหวหรือไม่
ดังนั้นรัฐบาลควรจะมีนโยบายออกมาเพื่อป้องกันทั้งอุตสาหกรรมเพื่อไม่ให้กระทบเป็นลูกโซ่ เพราะในแต่ละปีจะมีผลผลิตข้าวเปลือกทุกชนิดออกมาประมาณกว่า 30 ล้านตัน ต้องใช้เงิน 3-4 แสนล้านบาท เป็นเงินที่โรงสีจ่ายให้กับเกษตรกร”
ด้านนายเจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ราคารับซื้อข้าวหอมมะลิล่วงหน้า เป็นราคาของแต่ละบริษัทที่มองว่าเป็นราคาที่ซื้อขายได้ โรงสีใดอยากมาขายก็ไปรับซื้อข้าวเปลือก ก็ต้องแปรจากราคาข้าวสารไป ซึ่งราคาที่กำหนดเท่ากับราคาปีแล้วและเป็นตลาดเสรี ก็ต้องลองดูว่าราคาแบบนี้ตลาดต่างประเทศรับได้หรือไม่ ถ้าคู่ค้าซื้อปริมาณมาก ราคาในประเทศก็จะปรับราคาขึ้น แต่ถ้าราคานี้เขาไม่เอาก็ต้องปรับราคาลง อยู่ที่กลไกตลาด
“ราคาข้าวหอมมะลิ ไม่เกี่ยวกับการอินเดียยกเลิกการแบนส่งออกข้าวขาว เพราะเป็นข้าวคนละชนิดกัน ราคาข้าวหอมมะลิขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาด ปีที่แล้วเราส่งออกไปเยอะมาก ทำให้ราคาข้าวหอมมะลิปลายปีนี้ (ราคาข้าวหอมมะลิเก่า) ขาดตลาด จึงทำให้ราคาสูงมากถึง 35,000 บาท/ตัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ เป็นการส่งออกมากกว่าปีปกติ 10% ซึ่งนำไปเปรียบเทียบกันไม่ได้ เพราะค่าเงินบาทปีที่แล้วกับปีนี้แตกต่างกันหากราคาเราสูง ก็มีคู่แข่งที่พร้อมจะขายเสียบแทนไทยทันที”
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,036 วันที่ 17 - 19 ตุลาคม พ.ศ. 2567