นายอลงกรณ์ พลบุตร ประธานสถาบันเอฟเคไอไอ. ประธานมูลนิธิเวิลด์วิว ไครเมท และรองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติเเละสิ่งเเวดล้อม กล่าวในงานสัมมนาเวิร์คช็อป “พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3 หัวข้อ “ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน“ ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีนโยบายให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ การฟื้นฟู การใช้ประโยชน์ทรัพยากรป่าไม้อย่างยั่งยืนเพื่อชุมชน และนโยบายลดโลกร้อน โดยเพิ่มพื้นที่สีเขียวเพื่อบรรลุเป้าหมายสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี 2065 ถือเป็นนโยบายเรือธงเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน
การประชุมผนึกความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน ภาครัฐ ภาควิชาการ ผู้นำท้องถิ่น และภาคประชาชนในจังหวัดสระบุรี ซึ่งมีเจตนารมย์ร่วมกันให้จังหวัดสระบุรี เป็นต้นแบบ "เมืองคาร์บอนต่ำ" หรือ "SARABURI LOW CARBON CITY" โดยเน้นใน 5 ภาคส่วน คือ ภาคอุตสาหกรรม ภาคพลังงาน ภาคการกำจัดขยะของเสีย ภาคเกษตรกรรม และ ภาคการเพิ่มพื้นที่สีเขียว ถือเป็นตัวอย่างต้นแบบการบูรณาการทุกภาคส่วนที่น่าชื่นชม
โดยเฉพาะการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาป่าชุมชนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Forests for the Sustainable Future) จำนวน 45 แห่ง ในจังหวัดสระบุรี ภายใต้เครือข่ายคณะกรรมการจัดการป่าชุมชนแห่งละ 15 คน รวมทั้งสิ้นประมาณ 675 คน และขยายความร่วมมือกับอาสาสมัครของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
เช่น เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้าน (ทสม.) อีกราว 2,000 คน เครือข่ายที่ปรึกษาอุทยานแห่งชาติ และที่ปรึกษาเขตห้ามล่าสัตว์ป่า จำนวน 100 คน จะเป็นการขับเคลื่อนที่มีพลังสู่ความสำเร็จ ด้วยการบูรณาการของภาคีภาคส่วนต่างๆ
รวมทั้งหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในจังหวัดสระบุรี ได้แก่ สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสระบุรี สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 5 สระบุรี สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 1 สระบุรี สำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 7 สำนักงานทรัพยากรน้ำที่ 2 สระบุรี สำนักงานทรัพยากรน้ำบาดาลเขต 3 สระบุรี
ป่าชุมชนนอกจากมีอรรถประโยชน์ใช้สอยเพื่อชุมชนแล้ว ยังมีความหลากหลายทางชีวภาพ (Biodiversity) เพื่อเดินหน้าสู่ไบโอเครดิต(Bio Credit) ทั้งยังเป็นแหล่งอาหารของชุมชน(Community Food Bank)และสามารถพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ สร้างเศรษฐกิจฐานรากให้เข้มแข็ง รวมทั้งสามารถดำเนินการเรื่องคาร์บอนเครดิต เพื่อเศรษฐกิจสีเขียวอีกด้วย
“จากผลการประชุมในวันนี้ จะถอดรหัส สระบุรี แซนด์ บ็อกซ์(Saraburi Sandbox) เมืองคาร์บอนต่ำเพื่อสร้างโมเดลป่าชุมชน-ป่าคาร์บอนต้นแบบ โดยจะนำเสนอต่อ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.ทส. พิจารณาขยายผลไปยังจังหวัดต่างๆทั่ วประเทศต่อไป”นายอลงกรณ์กล่าว
ในการสัมมนาเวิร์คช็อปครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน ได้มอบหมายนายอลงกรณ์ พลบุตร คณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายปรพล อดิเรกสาร ที่ปรึกษาสมาคมการท่องเที่ยวสระบุรี เเละหน่วยงานสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในสระบุรี เข้าประชุมสัมมนาเวิร์คช็อป “พลเมืองเคลื่อนรัฐครั้งที่ 3 หัวข้อ “ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน“ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ(กพร.) และมูลนิธิคอนราด อเดนาวร์ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2567 ที่ลีลาวดีรีสอร์ต อ.เมือง จ.สระบุรี
ร่วมกับ นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี นางอารีย์พันธ์ เจริญสุข รองเลขาธิการ กพร. ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ ประธานอนุกรรมการพัฒนาระบบราชการ นายบุญมี สรรพคุณ หนึ่งในผู้ริเริ่มสระบุรีแซนด์บ็อกซ์ นายเสกสรร กวยะปาณิก รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดการป่าชุมชน กรมป่าไม้และภาคีภาคส่วนต่างๆ
เช่น จังหวัดสระบุรี สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน(บีโอไอ. )องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก กองทุนสิ่งแวดล้อม สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ(สพภ.BEDOThailand) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน(อพท.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง โรงงานและบริษัทต่างๆ ในพื้นที่เช่น เอสซีจี. เคมีแมน สยามฟูรูกาว่า ซีพีเมจิ ทีพีไอโพลีน เบทาโก เป็นต้น และเครือข่ายป่าชุมชนเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนสระบุรีให้เป็นเมืองคาร์บอนต่ำ ( SARABURI LOW CARBON CITY )ภายใต้แนวทางOpen Gov. for SRI สระบุรี เเซนด์บ็อกซ์ (Saraburi Sandbox)ด้วยโครงการ“ป่าชุมชนสระบุรีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน”
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีการจัดตั้งป่าชุมชนในพื้นที่กรมป่าไม้ 12,231 แห่ง เนื้อที่ 6,308,712 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีป่าชุมชนในพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ชุมชนที่ดูแลรักษาป่าชุมชนจะถูกโน้มน้าวให้เข้าร่วมโครงการ โดยมีเงินทุนสนับสนุน และมีการแบ่งปันผลประโยชน์จากการค้าคาร์บอนเครดิตจำนวนหนึ่ง
ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2566 พบว่า ป่าชุมชน 211 แห่ง ในพื้นที่ 18 จังหวัด กำลังกลายเป็นป่าคาร์บอน โดยเป็นป่าชุมชน (ป่าบก) 129 แห่ง ป่าชุมชนชายเลน 82 แห่ง รวมปริมาณการดูดกลับก๊าซคาร์บอน ประมาณ 1,904,463 ตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
ข้อมูลในปี 2564 ป่าธรรมชาติและป่าเศรษฐกิจในประเทศไทยมีการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกรวมกัน 100 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ดังนั้น ยังเหลือตามเป้าหมายอีก 20 ล้านตันของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศ รวมเนื้อที่ 177.94 ล้านไร่ ภายใน พ.ศ. 2580 เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซคาร์บอน และก๊าซเรือนกระจกอื่นๆ ในขณะที่ปัจจุบันมีพื้นที่สีเขียว ร้อยละ 39.60 รวมเนื้อที่ 128.12 ล้านไร่ ดังนั้น ต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียว ประมาณ 49.82 ล้านไร่