ปัญหาสินค้าไม่ได้มาตรฐานยังระบาดหนักในไทย ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอีของไทยที่ผลิตสินค้าได้คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.)
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการ สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึง สถิติผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานที่นำเข้าระหว่างเดือนกันยายน 2566 ถึงกันยายน 2567 พบว่า 10 ลำดับแรก ประกอบด้วย ยางล้อสูบลม, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณขึ้นรูปเย็น สำหรับงานโครงสร้างทั่วไป, เหล็กกล้าทรงแบนรีดร้อนสำหรับงานโครงสร้างทั่วไป, ฟองนํ้าลาเท็กซ์สำหรับทำที่นอน, เครื่องปรับอากาศ, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, ฟองนํ้าลาเท็กซ์สำหรับทำหมอน, รถจักรยานยนต์, ภาชนะและเครื่องใช้พลาสติกสำหรับอาหาร และพัดลมไฟฟ้ากระแสสลับ (ดูอินโฟประกอบ)
ขณะสินค้ายอดนิยมที่มีการนำเข้ามามากในช่วงเดียวกัน ซึ่ง สมอ. ได้ตรวจสอบการนำเข้าสินค้าควบคุมทั้ง 144 มาตรฐาน พบว่าผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาตใน 10 ลำดับแรก ได้แก่ แบตเตอรี่สำรองไฟฟ้าสำหรับใช้พกพา, เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, พัดลมไฟฟ้ากระแสสลับ, ยางล้อสูบลม, บริภัณฑ์เสียง วีดิทัศน์ บริภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, เครื่องใช้ไฟฟ้าสำหรับดูแลผิวหรือผม, บริภัณฑ์ส่องสว่างและบริภัณฑ์ที่คล้ายกัน, ของเล่น, หม้อหุงข้าวไฟฟ้า และบริภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจมีสารอันตราย
“สมอ.ได้ดำเนินคดีกับผู้ประกอบการ กรณีนำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นมูลค่า 45.99 ล้านบาท และกรณีผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐาน คิดเป็นมูลค่า 349.48 ล้านบาท รวมทั้ง 2 กรณี มีจำนวน 517 ราย คิดเป็นมูลค่าทั้งสิ้น 395.47 ล้านบาท”
อย่างไรก็ดี การนำเข้าสินค้าควบคุมของ สมอ. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า 308 ผลิตภัณฑ์ ผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตจาก สมอ.ก่อน โดยสมอ. จะตรวจสอบระบบการควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ส่วนกรณีเป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้า แต่นำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งการดำเนินการเอาผิดกับผู้นำเข้าที่ไม่ได้รับใบอนุญาต หรือผู้นำเข้าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน สามารถปฏิบัติได้ทันที
ทั้งนี้ในการเพิ่มความเข้มข้นในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมไทย ให้สามารถแข่งขันกับสินค้านำเข้าได้อย่างเท่าเทียม และปกป้องประชาชนให้ได้ใช้สินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีความปลอดภัยในชีวิต สมอ.อยู่ระหว่างร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อบังคับให้ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายต้องแสดงเครื่องหมาย ฉลาก และคู่มือการใช้งานภาษาไทย และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลของสินค้าควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานรัฐกับแพลตฟอร์มออนไลน์
อย่างไรก็ตาม สมอ.ยังได้เร่งรัดการประกาศกำหนดมาตรฐานบังคับโดยเร็ว เพื่อให้สามารถกำกับดูแลสินค้าได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567-2568 จะประกาศมาตรฐานบังคับเพื่อควบคุมสินค้าเพิ่มอีก 58 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า จำนวน 91 ผลิตภัณฑ์
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,044 วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567