ขณะที่สินค้าเถื่อนลักลอบนำเข้ามาโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ทวีปริมาณเพิ่มขึ้นรวมถึง มหากาพย์ อุตสาหกรรมเหล็กที่เผชิญมรสุมหนักหน่วงมาตลอดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา รอรับการปกป้องอย่างทันท่วงที ล่าสุด “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ถึงความคืบหน้าและแนวทางรับมือ
นายวันชัย กล่าวว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้มอบนโยบายในการปฏิรูปอุตสาหกรรมไทย ในโอกาสเข้ารับตำแหน่งใน 3 ด้าน คือ 1. สู้ -สู้กับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมาย ทำร้ายประชาชน สร้างมลพิษ ดิน นํ้า อากาศ 2. เซฟ (Save) - เซฟพี่น้องอุตสาหกรรมไทย สร้างความเท่าเทียม สร้างรายได้ สร้างโอกาสในการแข่งขัน 3. สร้าง - สร้างอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เชื่อมโยงเศรษฐกิจโลก
ในส่วนของ สมอ.ผู้ขานรับนโยบายที่เกี่ยวข้อง ได้กำหนดมาตรการป้องกันการนำเข้าสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มีมาตรการสำคัญ คือ 1.เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าควบคุมทั้ง 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า 308 ผลิตภัณฑ์ ที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด และทางออนไลน์ โดยเพิ่มความถี่ในการตรวจสอบจากเดิม 50% หากพบการกระทำความผิดให้ดำเนินการทางกฎหมายอย่างถึงที่สุด
รวมถึงให้ขยายผลจากร้านจำหน่ายไปยังผู้นำเข้าและโกดังเก็บสินค้า กรณีเป็นผู้โฆษณา จำหน่าย หรือมีไว้เพื่อจำหน่าย ที่ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต สินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือไม่มีการแสดงเครื่องหมายมาตรฐาน เป็นต้น มีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีเป็นผู้นำเข้าโดยไม่ได้รับอนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.ยกระดับการคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน โดยการควบคุมสินค้าที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน โดยเฉพาะสินค้าที่ส่งผลกระทบกับความปลอดภัยโดยตรง เช่น ลิฟท์ บันไดเลื่อน ถังดับเพลิง เป็นต้น
3.บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมศุลกากร ในการปิดช่องทางการนำเข้าสินค้าที่ สมอ. ควบคุม ที่นำเข้ามาโดยมิได้มีวัตถุประสงค์เพื่อการจำหน่ายและไม่เกินจำนวนที่กำหนดหรือ EXEMPT5 เพื่อป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในประเทศ ร่วมกับสภาองค์กรของผู้บริโภค เพื่อช่วยประชาสัมพันธ์การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นสินค้าควบคุมบนแพลตฟอร์มออนไลน์
รวมถึงการแจ้งเบาะแสเรื่องร้องเรียนที่ได้รับจากผู้บริโภค โดยใช้เครือข่ายของสภาองค์กรของผู้บริโภค จำนวน 334 องค์กร 53 จังหวัด และร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อบังคับให้ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายต้องแสดงเครื่องหมาย ฉลาก และคู่มือการใช้งานภาษาไทยของสินค้าที่จำหน่ายในราชอาณาจักร และร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการทางกฎหมายกับแพลตฟอร์มออนไลน์ รวมถึงการเชื่อมต่อข้อมูลของสินค้าควบคุมให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างหน่วยงานรัฐกับแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นต้น
นายวันชัย กล่าวอีกว่า การนำเข้าสินค้าควบคุมของ สมอ. ซึ่งปัจจุบันมีจำนวน 144 มาตรฐาน ครอบคลุมสินค้า 308 ผลิตภัณฑ์ ผู้นำเข้าจะต้องขออนุญาตจาก สมอ. ก่อน โดย สมอ. จะตรวจสอบระบบการควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบผลิตภัณฑ์ว่าเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดหรือไม่ หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
กรณีเป็นผู้รับใบอนุญาตนำเข้า แต่นำสินค้าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาในราชอาณาจักรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้นการดำเนินการเอาผิดกับผู้นำเข้าที่ไม่ได้รับใบอนุญาต หรือผู้นำเข้าสินค้าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน จึงสามารถปฏิบัติได้ทันที
“ที่ผ่านมา สมอ. ได้ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ระหว่างกันยายน 2566-กันยายน 2567 จำนวน 517 ราย โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์ที่ยึดอายัดเพื่อดำเนินคดี รวมมูลค่า 395.47 ล้านบาท”
นายวันชัย กล่าวถึง กรณีอุตสาหกรรมเหล็กพบปัญหาต่อเนื่องหลายปีเหล็กของไทยใช้อัตรากำลังการผลิตตํ่าอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด โดยใน 6 เดือนแรกของปี 2567 มีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ไม่ถึงร้อยละ 30 สาเหตุหลักมาจาก 1. มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจำนวนมากจากต่างประเทศ ในปี 2566 มีปริมาณนำเข้า 11.2 ล้านตัน ขยายตัวร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นการนำเข้าจากจีนมากที่สุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40 และขยายตัวร้อยละ 24 จากปี 2565
2.การชะลอตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า การบริโภคเหล็กในประเทศ มีปริมาณ 16.4 ล้านตัน หดตัวร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับปี 2565
ปัญหาเหล่านี้นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รับทราบและมีนโยบายที่ชัดเจน ในการปกป้องอุตสาหกรรมเหล็ก ได้เร่งรัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม ขยายระยะเวลาการใช้บังคับประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง ห้ามตั้งหรือขยายโรงงานผลิตเหล็กเส้นเสริมคอนกรีตหรือเหล็กแท่งเล็กสำหรับเหล็กเส้นเสริมคอนกรีต ทุกขนาด ทุกท้องที่ในราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 5 ปี รวมทั้งเพิ่มมาตรการห้ามตั้งห้ามขยาย โรงงานเหล็กแผ่นรีดร้อนพร้อมไปด้วย เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กไทยแบบครอบคลุมทั้งหมด
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4,043 วันที่ 10 - 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2567