“นฤมล”จ่อชง 3 วาระเร่งด่วน เสนอ“กนย.”รักษาเสถียรภาพราคายาง

21 ต.ค. 2567 | 08:45 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ต.ค. 2567 | 08:48 น.

“นฤมล”รัฐมนตรีเกษตรฯ หารือ กยท. เตรียมเสนอวาระเร่งด่วน 3 มาตรการ เข้าที่ประชุม กนย. เพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการประชุมหารือในวาระเร่งด่วน เพื่อเตรียมเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ร่วมกับ นายเพิก เลิศวังพง ประธานกรรมการการยางแห่งประเทศไทย (ประธานบอร์ด กยท.) นายสุขทัศน์ ต่างวิริยกุล รองผู้ว่าการด้านปฏิบัติการ รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  

โดยมีวาระที่สำคัญเสนอในที่ประชุม กนย. เพื่อพิจารณา ดังนี้ 1. โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้แก่ผู้ประกอบกิจการยางเพื่อรับซื้อยางจากเกษตรกรชาวสวนยางและสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง 

2. ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการพัฒนาศักยภาพสถาบันเกษตรกรเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนรักษาเสถียรภาพราคายาง 

และ 3. ขออนุมัติขยายระยะเวลาดำเนินการโครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่สถาบันเกษตรกรเพื่อรวบรวมยาง เพื่อเพิ่มโอกาสและศักยภาพในการเสริมสภาพคล่องในการพัฒนาด้านยางพารา สมาชิกของสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายยางได้ในราคายุติธรรม ลดต้นทุนในการรวบรวมผลผลิตได้ และเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง  

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้รายงานความคืบหน้าการจัดทำบันทึกความเข้าใจ (MOU) ระหว่าง Malaysian Rubber Board (MRB) ประเทศมาเลเซีย กับการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เพื่อการพัฒนาด้านการค้ายางพาราและความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ตามที่ รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางเจรจาด้านการค้าการลงทุนในอุตสาหกรรมยางพาราณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 11 ก.ค.67 ที่ผ่านมา 

ขณะนี้ MOU ดังกล่าวอยู่ในขั้นตอนการเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันส่งเสริม สนับสนุน ความร่วมมือในการบริหารจัดการผลผลิตยางพารา ให้สอดคล้องต่อความต้องการในอุตสาหกรรมยางพาราของทั้ง 2 ประเทศ ให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจเพื่อประโยชน์ของผู้ผลิตและผู้บริโภค 

ตลอดจนส่งเสริมและสนับสนุนด้านการค้าและอุตสาหกรรมยางพารา ให้มีคุณภาพและมาตรฐานสร้างความมั่นคงในระยะยาวของห่วงโซ่อุปทาน รวมไปถึงส่งเสริมด้านความยั่งยืนของอุตสาหกรรมยางพาราในการตรวจสอบย้อนกลับ และการแก้ไขปัญหาและความท้าทายที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันพัฒนางานวิจัยที่เกี่ยวกับยางพาราในด้านการผลิตและอุตสาหกรรม