การส่งออกของไทยในภาพรวมช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่า 250,398 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวที่ 4.9% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่า 257,149 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 6.6% ส่งผลช่วง 10 เดือนแรกไทยขาดดุลการค้า 6,751 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมการค้าอาหารอนาคตไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ปัจจัยบวกต่อการส่งออกไทยช่วง 10 เดือนแรกมีส่วนสำคัญจาก สินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว
ในสินค้าเครื่องจักร หลายประเทศยังมีการเร่งนำเข้าเครื่องจักรสำหรับการผลิต,สินค้าวัตถุดิบที่เกี่ยวเนื่องกับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการฟื้นตัวของภาคการผลิต นอกจากนี้สินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกมีการขยายตัวและเป็นที่ต้องการมากขึ้นในช่วงปลายปี
สำหรับการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรในเดือนตุลาคมล่าสุด ขยายตัว 7.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน สินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัว 10.1% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดแอฟริกาใต้ สหรัฐ ฟิลิปปินส์ อิรัก และ แคเมอรูน, ยางพารา ขยายตัว 32.6% ขยายตัวต่อเนื่อง 12 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐ มาเลเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย),ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 12.4% เป็นการกลับมาขยายตัวหลังจากหดตัวในเดือนก่อนหน้า (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร มาเลเซีย เนเธอร์แลนด์ และสิงคโปร์)
ส่วนสินค้าที่หดตัวได้แก่ ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้ง,ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง,นํ้าตาลทราย โดยภาพรวม 10 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.6%
ขณะที่การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 18.7% สินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ, ผลิตภัณฑ์ยาง, เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ, เคมีภัณฑ์, เม็ดพลาสติก,เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญที่หดตัว อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด
“แนวโน้มการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ มองว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลให้อัตราการขยายตัวของการส่งออกไทยทั้งปี 2567 จะบรรลุเกินกว่าเป้าหมายในการทำงาน ตามที่ได้ตั้งไว้(กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าส่งออกไทยไว้เมื่อต้นปีจะขยายตัวได้ 1-2%) โดยคาดว่าหากการส่งออก 2 เดือนสุดท้ายสามารถทำได้เฉลี่ยเดือนละ 23,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะทำให้การส่งออกของไทยทั้งปีขยายตัว 4% หรือมีมูลค่า 290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรืออาจจะโตถึง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐหรือในรูปเงินบาทมากกว่า 10 ล้านล้านบาท”
มีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลและฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปี ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ
ส่วนปัจจัยที่เป็นความท้าทาย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของนโยบายการค้าสหรัฐในอนาคต ความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน สถานการณ์ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังคงดำเนินอยู่ รวมถึงผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนนโยบายการส่งออกข้าวของอินเดียที่อาจส่งผลต่อการส่งออกข้าวไทย ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จำเป็นต้องเฝ้าติดตามและวิเคราะห์ปัจจัยเหล่านี้อย่างใกล้ชิด เพื่อหาแนวทางรับมือที่เหมาะสมต่อสถานการณ์