ทั้งนี้ในภาพรวมเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2567 และทิศทางแนวโน้มในปี 2568 จะเป็นอย่างไรนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย หนึ่งในสถาบันหลักภาคเอกชน ที่ฉายภาพไว้อย่างละเอียด
นายสนั่น กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2567 แม้ว่าปีนี้จะเป็นอีกปีที่เศรษฐกิจไทยเจอแรงกระแทกจากปัจจัยทั้งภายใน และนอกประเทศ แต่หอการค้าฯยังเชื่อมั่น ว่าน่าจะเติบโตได้ในกรอบ 2.6-2.8%
ปัจจัยบวกที่โดดเด่นคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยจำนวนมาก สิ่งนี้เป็นการยํ้าว่าประเทศไทยสามารถบริหารจัดการภาคการท่องเที่ยวได้ดี และไทยยังเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวที่สำคัญของโลก
ข้อมูล ณ วันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 พบว่าประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเที่ยวไทยแล้วทั้งสิ้น 31.3 ล้านคน สร้างรายได้แล้วไม่ตํ่ากว่า 1.46 ล้านล้านบาท ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ทั้งปี 2567 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวไทยถึง 36 ล้านคน
อีกปัจจัยบวกคือ ภาคการส่งออกของไทยที่เร่งตัวอย่างโดดเด่นในช่วงโค้งสุดท้ายของปี โดยเฉพาะสินค้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง ตามกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้การส่งออกน่าจะเป็นเครื่องยนต์อีกตัวที่เติบโตเกินกว่าที่คาดหมายไว้เมื่อต้นปี
ล่าสุดภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้ปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกจากเดิม 2.5-2.9% (ณ พ.ย. 67) เป็น 4.0% (ณ ธ.ค. 67)โดยมีปัจจัยสำคัญจากการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรมของคู่ค้า การใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น การเติบโตของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทย ประกอบกับต้นทุนโลจิสติกส์ที่เอื้ออำนวยจากการปรับลดลงของค่าระวางเรือ
สำหรับปัจจัยลบของปีนี้ ยังคงเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยตรง รวมถึงราคาพลังงาน และความผันผวนของค่าเงินที่มีผลต่อการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรก ขณะเดียวกันภายในประเทศก็มีปัญหาเรื่องนํ้าท่วมทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคใต้ ประเมินนํ้าท่วมทั้ง 3 ภาค คาดจะมีความเสียหายราว 80,000-85,000 ล้านบาท หรือ 0.6% ของจีดีพี ถือเป็นปัจจัยบั่นทอนเศรษฐกิจ ประกอบกับปัญหาใหญ่อย่างหนี้ครัวเรือนของประชาชนที่อยู่ในระดับสูง เป็นแรงกดดันกำลังซื้อ และกระทบต่อความสามารถในการเข้าถึงสินเชื่อโดยรวมของประเทศ
สำหรับในปี 2568 หอการค้าไทยได้ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ไว้ที่กรอบ 2.8-3.8% ค่ากลางอยู่ที่ 3% โดยมีปัจจัยสนับหนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐ การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน การส่งออก และการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อที่มีเสถียรภาพ
“อย่างไรก็ดียังมีข้อจำกัดที่กดดันต่อเศรษฐกิจไทย เช่น ความเสี่ยงที่เกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และปริมาณการค้าโลกที่จะขยายตัวได้ตํ่ากว่าคาด ภาระหนี้สินของครัวและภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับสูง ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคการเกษตร ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์”
ด้านการท่องเที่ยว ประเมินว่าจะมียอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยแตะ 40 ล้านคน โดยนโยบาย ซอฟต์ พาวเวอร์ ของรัฐบาลจะมีส่วนสำคัญในการปั๊มการท่องเที่ยวให้เติบโตได้ก้าวกระโดด ซึ่งไทยต้องใช้ประโยชน์จากซอฟต์ พาวเวอร์ เชื่อมโยงกับการยกระดับเทศกาลหรืออีเว้นท์ของไทย เช่น เทศกาลลอยกระทง ปีใหม่ และสงกรานต์ ที่เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก หรือแม้แต่ มวยไทย อาหารไทย นวดไทย สามารถต่อยอดสู่งานระดับโลกให้ได้
ทั้งนี้ต้องเน้นจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับชุมชนและเศรษฐกิจในท้องถิ่น ซึ่งส่วนนี้เองหอการค้าฯ กับรัฐบาลก็ได้ร่วมกันจัดเทศกาลอวดเมือง คือการเข้าไปช่วยยกระดับเทศกาลแต่ละจังหวัดให้สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศได้มากขึ้น
“สำหรับในปีหน้า มองว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีโอกาสจะปรับลดดอกเบี้ยลงได้อีก 1-2 ครั้ง (ปัจจุบันอยู่ที่ 2.25% ต่อปี) ส่วนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่จะมีต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2568 โดยรวมแล้ว 1.65 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นผลต่อ GDP ที่ 0.93% แยกเป็นมาตรการแจกเงิน 10,000 บาท เฟส 2 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป) คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 35,600 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.20%
ส่วนมาตรการแก้ปัญหาหนี้ คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ 91,700 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.51% มาตรการช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท คาดว่าจะมีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจราว 38,500 ล้านบาท คิดเป็นผลต่อ GDP 0.22% อย่างไรก็ดี มองว่ามาตรการแจกเงิน 10,000 บาทในเฟส 2 ซึ่งคาดว่าจะได้รับก่อนตรุษจีนปี 2568 นั้น ยังกระตุกเศรษฐกิจในปีหน้าไม่เต็มที่ จำเป็นต้องมีมาตรการแก้หนี้ครัวเรือน และการปรับโครงสร้างหนี้ หรือการกระตุ้นเศรษฐกิจและเพิ่มการจับจ่ายใช้สอย