ส่งออกรถยนต์ปี 68 ฝืด เล็งเท่าปีนี้ 1.05 ล้านคัน ผวา“ทรัมป์”ป่วนค้าโลก

05 ธ.ค. 2567 | 21:04 น.

ส่งออกรถยนต์ปี 68 ทิศทางยังฝืด สงครามหลายคู่ยืดเยื้อ- “ทรัมป์” ขู่ขึ้นภาษี ป่วนเศรษฐกิจ ค้าโลกชะลอตัว เบื้องต้นเล็งเป้าปีหน้า 1.05 ล้านคัน ประธานหอการค้าฯ แนะค่ายรถขยายตลาดใหม่ ลดเสี่ยงสหรัฐขึ้นภาษีสูง จี้รัฐกำหนดสัดส่วนการใช้วัตถุดิบในประเทศ ป้องรถอีวีจีนถูกกีดกัน

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แถลงภาวะอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ในส่วนของการผลิตเพื่อการส่งออกทั้งปีนี้ ได้ปรับลดเป้าหมายลงจาก 1.15 ล้านคันก่อนหน้า ลงเหลือทั้งปีที่ 1.05 ล้านคัน หรือลดลง 1 แสนคัน

ทั้งนี้รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นสินค้าส่งออกอันดับ 1 ของไทยมานานหลายสิบปี ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออก 1.11 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 11.30% ของมูลค่าการส่งออกไทยในภาพรวม ขณะช่วง 10 เดือนแรกปี 2567 มีมูลค่าส่งออก 9.08 แสนล้านบาท ลดลง 1.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และคิดเป็นสัดส่วน 10.26% ของการส่งออกไทยในภาพรวม ตลาดส่งออก 5 อันดับแรกได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และซาอุดีอาระเบีย

นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท. เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การปรับลดเป้าหมายการส่งออกรถยนต์ที่ลดลงในปีนี้ มีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบ จากสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ขยายวง และสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังยืดเยื้อ และมีทิศทางการยกระดับรุนแรงขึ้น กระทบต่อการส่งออกไปยังตลาดตะวันออกกลาง และยุโรป และกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและบรรยากาศการจับใช้สอย ทำให้คนต้องประหยัด จากยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ข้างหน้า

สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ ส.อ.ท.

สำหรับการส่งออกรถยนต์ของไทยที่คาดจะลดลงเหลือระดับ 1.05 ล้านคันในปีนี้ ยังเป็นผลจากในปีที่ผ่านมาฐานตัวเลขการส่งออกสูง (ปีที่แล้วส่งออกได้ 1.117 ล้านคัน) ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทางกลุ่มฯตั้งใจจะตั้งเป้าหมายการส่งออกไว้ที่ 1.05 ล้านคัน เนื่องจากในปี 2566 ที่ส่งออกได้ 1.11 ล้านคัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานผลิตในไทยได้ผลิตทดแทนประเทศหนึ่งที่โรงงานมีปัญหาทำให้ผลิตไม่ได้

“ในปีที่แล้วฐานในไทยได้ผลิตทดแทน และส่งออกไปที่ประเทศหนึ่ง เพื่อให้เขามีรถขาย ทำให้ตัวเลขการส่งออกของเราก็กระฉูดขึ้นมา และยังมองในแง่ดี จึงตั้งเป้าการผลิตเพื่อส่งออกปีนี้ที่ 1.15 ล้านคัน แต่พอมีสงครามอิสราเอลกับฮามาส และลุกลามขยายวง ส่งผลให้ยอดการส่งออกรถยนต์ของไทยช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาติดลบ 20% บ้าง 27% บ้างในบางเดือน ก็เลยปรับลดเป้าหมายการผลิตเพื่อส่งออกลงเหลือ 1.05 ล้านคันดังกล่าว”

ส่งออกรถยนต์ปี 68 ฝืด เล็งเท่าปีนี้ 1.05 ล้านคัน ผวา“ทรัมป์”ป่วนค้าโลก

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่ตามมาจากยอดขายรถยนต์ในประเทศ และยอดการส่งออกที่ลดลงก่อนหน้านี้จนถึงปัจจุบัน มีโรงงานรถยนต์หลายแห่ง รวมถึงโรงงานผลิตชิ้นส่วนต่อเนื่อง ต้องปรับลดเวลาการทำงานลงเหลือ 2-3 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่มีการทำงานล่วงเวลา (โอที) และบางแห่งลดเงินเดือนพนักงานลงเหลือ 75%

สำหรับทิศทางการส่งออกรถยนต์ไทยในปี 2568 ในเบื้องต้นคาดการผลิตเพื่อส่งออกไว้ที่ 1.05 ล้านคันเท่ากับปีนี้ ซึ่งจะมีการปรับเป้าหมายเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไร คงต้องรอดูตัวเลขการส่งออกของเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมของปีนี้ก่อน โดยตัวเลขเป้าหมายการส่งออกที่ชัดเจนของปีหน้า จะมีการหารือและกำหนดเป้าหมายในช่วงเดือนมกราคม 2568

ทั้งนี้มองปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการกำหนดเป้าหมายการส่งออกคือ ทิศทางเศรษฐกิจโลกปี 2568 ที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ประกาศจะปรับขึ้นภาษีสินค้าจากทั่วโลก 10-20% อาจส่งผลกระทบเศรษฐกิจ การค้าโลกขยายตัวลดลง

ขณะที่ตลาดรถยนต์ในหลายประเทศเริ่มมีการกวดขันเรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ยุโรป ออสเตรเลีย จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกรถยนต์เครื่องยนต์สัปดาปภายในของไทย ในทางกลับกันจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะเป็นโอกาสการส่งออกรถยนต์นั่ง และรถปิกอัพไฮบริดของไทย

“หลายฝ่ายกังวลว่า จีนมาใช้ไทยเป็นฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวี หากมีเป้าหมายการส่งออกไปสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ อาจถูกขึ้นภาษีสูง 100-200% เหมือนรถยนต์ที่ผลิตในจีนและส่งออกไปสหรัฐ แต่ส่วนตัวมองว่าฐานผลิตรถยนต์จีนในไทย คงไม่มีเป้าหมายหลักไปตลาดสหรัฐที่อยู่ไกล เพราะไม่คุ้ม แต่คาดรถอีวีจีนที่ผลิตในไทยจะมีเป้าหมายการส่งออกไปตลาดเอเชีย อาเซียน ออสเตรเลีย หรือยุโรปมากกว่า

อย่างไรก็ดีต้องรอดูนโยบายหรือมาตรการที่แท้จริงของโดนัลด์ ทรัมป์ หลังเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2568 ในเรื่องภาษี หรือมาตรการการค้าต่าง ๆ ว่าจะเป็นอย่างไร”

เกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

ด้าน นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ทิศทางอุตสาหกรรมยานยนต์ในไทย และในตลาดต่างประเทศยังน่าห่วง จากเวลานี้เกือบทุกประเทศมีปัญหาเศรษฐกิจ กำลังซื้อหดตัว สถาบันการเงินระมัดระวังในการปล่อยกู้ เพราะกลัวเป็นเอ็นพีแอล ตลาดรถยนต์ในประเทศเวลานี้ มีรถยนต์ถูกยึดจำนวนมาก ซึ่งจากข้อมูลของสหการประมูลมีมากถึง 250,000 คัน พอยึดมาไม่มีคนซื้อ รถมือสองราคาก็ตก ทำให้ขาดทุนทุกฝ่าย นอกจากนี้ยังมีรถอีวีจีนเข้ามาแชร์ตลาด และลดราคาแรงมาก ยิ่งไปกระทบราคารถยนต์มือสองตกต่ำลงไปอีก

ขณะที่ นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ผู้ประกอบการจากจีนเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถ EV ในประเทศไทย มองในแง่โอกาสจะช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (New wave) ในหลายมิติ ของไทย

ทั้งนี้ การลงทุนของผู้ผลิตจีนช่วยให้ไทยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขั้นสูง เช่น ระบบแบตเตอรี่, ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า และเทคโนโลยี IoT ที่ใช้ในรถยนต์อัจฉริยะ สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องกำหนดเป็นหนึ่งในเงื่อนไขในการลงทุน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับประเทศ

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

ส่วนความเสี่ยง หากรถยนต์แบรนด์จีนผลิตในไทยส่งออกไปสหรัฐ อาจถูกตรวจสอบ และใช้มาตรการเก็บภาษีสูง ในแง่มาตรการป้องกันผลกระทบ (เชิงรับ) ไทยต้องกระจายความเสี่ยงตลาดส่งออกไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน, ยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียตะวันออก เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้

“รัฐบาลจำเป็นต้องกำหนดหลักเกณฑ์ในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ โดยเฉพาะการเพิ่มสัดส่วนการใช้ Local Content ภายในประเทศให้มากที่สุด เพื่อให้ไทยไม่ถูกเพ่งเล็งว่าเป็นเพียงประเทศฐานการผลิตของจีนเท่านั้น แต่ต้องทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องของไทยสามารถเติบโตและอยู่รอดไปกับการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้ด้วย” นายสนั่น กล่าว