หอการค้าฯ จี้รัฐปรับโครงสร้าง ศก. เร่งแก้หนี้-กระจายรายได้ ดัน GDP โต 5% ต่อปี

14 ธ.ค. 2567 | 09:46 น.
อัปเดตล่าสุด :14 ธ.ค. 2567 | 10:00 น.

หอการค้าฯเปิด 5 ปัจจัยบวก ศก.ไทยปี 68 ท่องเที่ยว ลงทุนภาครัฐ-เอกชนโต “กรีน อีโคโนมี” หนุนลงทุนพลังงานหมุนเวียน-รถ EV ปัจจัยลบ การเมืองไม่เสถียร กระทบลงทุน เศรษฐกิจจีน-คู่ค้าชะลอตัวกระทบส่งออก ฝันรัฐแก้หนี้-กระจายรายได้ ดันจีดีพีโต 5% ต่อปี

ปี 2568 หอการค้าไทยได้ประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในเบื้องต้น ไว้ที่กรอบ 2.8-3.8% ค่ากลางอยู่ที่ 3% โดยมีปัจจัยบวก และปัจจัยลบที่อาจส่งผลกระทบที่ต้องติดตาม ทั้งปัจจัยภายในและนอกประเทศ

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หอการค้าฯได้มอง 5 ปัจจัยบวกต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ได้แก่

1.การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะนโยบายสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงรุก จะมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวตลาดจีนและยุโรปที่กลับมาเดินทางเพิ่มขึ้น

 2.การขยายตัวของการลงทุนภาครัฐและเอกชน ทั้งโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง และนิคมอุตสาหกรรมใน EEC ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค และดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ 3.การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัล โดยเฉพาะในช่วงที่ผ่านมาไทยเร่งผลักดันการลงทุนจากต่างประเทศในอุตสาหกรรมดิจิทัล เช่น e-commerce, fintech, digital payments, Data center

หอการค้าฯ จี้รัฐปรับโครงสร้าง ศก. เร่งแก้หนี้-กระจายรายได้ ดัน GDP โต 5% ต่อปี

4.การส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยในตลาดโลก ไทยยังคงเป็นผู้นำในการผลิตอาหารและสินค้าเกษตร โดยเฉพาะสินค้าเกษตรแปรรูป สินค้าออร์แกนิก และ Future Food ที่มีความต้องการสูงในต่างประเทศ และ 5.การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Economy) จากแนวโน้มความต้องการพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมทั่วโลกช่วยส่งเสริมการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และผลิตภัณฑ์ยั่งยืนในไทย

ส่วนมุมมอง 5 ปัจจัยลบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2568 ได้แก่

1.ความไม่แน่นอนทางการเมือง โดยการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หรือการขาดเสถียรภาพ อาจทำให้การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนชะลอตัว

2.ผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว โดยการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนหรือประเทศคู่ค้าหลักอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

3.ปัญหาโครงสร้างแรงงาน โดยเฉพาะการขาดแคลนแรงงานทักษะสูง และความล่าช้าในการปรับตัวของแรงงานต่อเทคโนโลยีใหม่อาจจำกัดศักยภาพการเติบโตในระยะยาว

4.ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหาภัยแล้ง และนํ้าท่วมรุนแรง อาจส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรและกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ

5.ต้นทุนพลังงานและวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งประเทศไทยพึ่งพาการนำเข้าพลังงานและวัตถุดิบจากต่างประเทศในสัดส่วนที่สูง ทำให้ไทยเผชิญกับความเสี่ยงจากราคาสินค้าในตลาดโลกที่ผันผวน

อย่างไรก็ดีหอการค้าฯ มีข้อเสนอแนะรัฐบาลในการขับเคลื่อนและเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจปี 2568 โดยระยะเร่งด่วน คือการสร้างความเชื่อมั่นทั้งในและต่างประเทศ การมีมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนของผู้ประกอบการ การตรึงราคาค่าไฟฟ้า-นํ้ามันดีเซล การปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่าให้เป็นไปตามกลไกคณะกรรมการไตรภาคี

นอกจากนี้คือ การกระจายงบประมาณไปยังภูมิภาคอย่างทั่วถึง และการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยโครงการคูณสอง เพื่อเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจ การสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน SMEs การแก้ไขปัญหาหนี้ ที่ประชาชนและ SMEs กำลังเผชิญอยู่

ทั้งนี้หัวใจสำคัญของการแก้หนี้ คือ รัฐบาลจำเป็นต้องใช้นโยบายการเงิน การคลัง ควบคู่กัน พร้อมกับการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมลํ้า โดยเฉพาะการพักและยืดการชำระหนี้ ทั้ง บ้าน รถ และ SMEs โดยเฉพาะไม่ยึดรถกระบะ ที่เป็นเครื่องมือทำมาหากินของประชาชน การลดดอกเบี้ย และการปลดล็อกการเข้าถึงสินเชื่อ

“ในอนาคตหากมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยเฉพาะการแก้หนี้ และกระจายรายได้อย่างทั่วถึง ก็มีโอกาสที่ GDP ไทยจะกลับมาเติบโตเต็มศักยภาพได้ถึง 5% ต่อปี” นายสนั่น กล่าว