สินค้าเกษตร-อาหาร ดันส่งออก พ.ย. พุ่ง 8.2% โต 5 เดือนติด

25 ธ.ค. 2567 | 07:21 น.
อัปเดตล่าสุด :25 ธ.ค. 2567 | 07:40 น.

สนค. เผย ส่งออกเดือน พ.ย. 67 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญ ขยายตัว 8.2% และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ส่งออกกลุ่มคอมพิวเตอร์-อุปกรณ์ดิจิทัลขยายตัวโดดเด่น ด้านสินค้าเกษตร-อาหารยังเป็นแรงหนุนสำคัญ

วันนี้ (25 ธันวาคม 2567) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า การส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2567 มีมูลค่า 25,608.2 ล้านเหรียญ หรือ 849,069 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ขยายตัว 8.2% มูลค่าการค้าการนำเข้า มีมูลค่า 25,832.5 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 0.9% ดุลการค้า ขาดดุล 224.4 ล้านดอลลาร์ 

 

สินค้าเกษตร-อาหาร ดันส่งออก พ.ย. พุ่ง 8.2% โต 5 เดือนติด

 

ทั้งนี้ หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวที่ 7% โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญจากการส่งออกสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ที่เติบโตในระดับสูง สอดรับกับกระแสการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลของโลก 

ขณะที่การส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิตยังคงขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการปรับตัวเชิงรุกของประเทศต่าง ๆ เพื่อรับมือกับพลวัตทางการค้ารูปแบบใหม่และความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจเกิดขึ้น อีกทั้งความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลก ยังเป็นแรงหนุนสำคัญที่ผลักดันให้การส่งออกของไทยเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ

สำหรับ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2567 การส่งออก มีมูลค่า 275,763.6 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.1% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 282,033.3 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 5.7% ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2567 ขาดดุล 6,269.8 ล้านดอลลาร์

 

สินค้าเกษตร-อาหาร ดันส่งออก พ.ย. พุ่ง 8.2% โต 5 เดือนติด

 

นอกจากนี้ มูลค่าการค้าในรูปเงินบาท เดือนพฤศจิกายน 2567 การส่งออก มีมูลค่า 849,069.3 ล้านบาท หดตัว 0.6% เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 867,456.4 ล้านบาท หดตัว 7.2% ดุลการค้า ขาดดุล 18,387.1 ล้านบาท 

ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรมูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 5.7% ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัว 4.1% และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัว 7.7% 

สำหรับสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ยางพารา ขยายตัว 14.1% ไก่สด แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป ขยายตัว 12% ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัว 44.8% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 3.3% อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัว 18.1% ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัว 24.6% 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ข้าว หดตัว 20.6% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัว 6.3% หดน้ำตาลทราย หดตัว 23.3% ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัว 8.3% 

 

สินค้าเกษตร-อาหาร ดันส่งออก พ.ย. พุ่ง 8.2% โต 5 เดือนติด

 

ด้านการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ขยายตัว 9.5% โดยมีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว อาทิ 

  • เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 40.8%  
  • รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัว 4.8% 
  • ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัว 24.8% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ขยายตัว 16.7% 
  • อัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำ) ขยายตัว 24.3% 
  • เคมีภัณฑ์ ขยายตัว 10.7%  
  • เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ขยายตัว 35.8% 
  • หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ ขยายตัว 13.8% 

ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ หดตัว 34.3% หด อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด หดตัว 71.5% 

สำหรับแนวโน้มการส่งออกในระยะถัดไปการส่งออกปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 กระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งออกทั้งปี 2567 จะทำสถิติใหม่ด้วยมูลค่ากว่า 10 ล้านล้านบาท สะท้อนความสำเร็จที่เหนือกว่าเป้าหมายที่วางไว้ อันเป็นผลจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในการดำเนินนโยบายเชิงรุก ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้าและความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยืดเยื้อ 

ขณะที่แนวโน้มในปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 2-3 ภายใต้บริบทความท้าทายที่ซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ แนวโน้มการค้าโลกที่อาจชะลอตัว ความขัดแย้งระหว่างประเทศที่ยังไม่คลี่คลาย อัตราดอกเบี้ยที่ยังทรงตัวในระดับสูง รวมถึงความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน 

 

สินค้าเกษตร-อาหาร ดันส่งออก พ.ย. พุ่ง 8.2% โต 5 เดือนติด

 

อย่างไรก็ตาม ด้วยการขับเคลื่อน 10 นโยบายยุทธศาสตร์การส่งออกของกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต การขยายฐานตลาดการค้าใหม่ ไปจนถึงการเร่งผลักดันความตกลงการค้าเสรี (FTA) ให้ครอบคลุมพันธมิตรทางการค้าในทุกภูมิภาค ประกอบกับการบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขอุปสรรคทางการค้า จะเป็นกลไกสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งและรักษาการเติบโตของภาคการส่งออกไทยในระยะต่อไป