ในมุมมองของคนในภาคปศุสัตว์แต่ละกลุ่มเห็นทิศทางปี 2568 เป็นอย่างไร อะไรคือโอกาส อะไรคือความท้าทาย และความช่วยเหลือจากรัฐ ควรส่งเสริมสนับสนุนภาคส่วนนี้อย่างไร เป็นสิ่งที่ต้องติดตาม
นายสิทธิพันธ์ ธนาเกียรติภิญโญ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ กล่าวว่า ปี 2567 ที่ผ่านมาภาพรวมผู้เลี้ยงหมู ไม่ถึงกับขาดทุน และพออยู่ได้ ห่วงก็เพียงผู้เลี้ยงรายเล็ก ที่มีต้นทุนสูง คนกลุ่มนี้เลี้ยงหมูไม่มาก และระบบป้องกันโรคก็ทำให้ต้นทุนสูง ที่สำคัญต้องพึ่งพาตลาดสด ซึ่งเป็นตลาดเล็ก
ขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ หันไปซื้อหมูตามห้างฯ และซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น เกษตรกรรายย่อยเหล่านี้ก็ลำบาก ในปี 2568 สิ่งที่สมาคมต้องช่วยกันผลักดันคือช่วยให้รายเล็กอยู่รอด ขายหมูได้ในราคาได้เหนือต้นทุนเพื่อให้ดำรงอาชีพและเลี้ยงครอบครัวต่อไปได้
ปัจจุบันผู้ประกอบการสุกรของไทย มีพัฒนาการขึ้นมากและเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ราว 60% ส่วนรายกลางและรายเล็กมีอยู่ราว ๆ กลุ่มละ 20% กลุ่มรายเล็ก 20% จึงเป็นกลุ่มที่สมาชิกสมาคมห่วงใยที่สุด
สำหรับต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ เป็นปัจจัยหลักของต้นทุนการผลิต ที่มองว่ารัฐควรส่งเสริมให้เกิดการปลูกในประเทศให้มีประสิทธิภาพที่ดีกว่านี้ ดีกว่าการไปพยุงราคาภายในประเทศจนทำให้ราคาสูงเกินกว่าการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อห่วงโซ่การผลิตอาหารทั้งระบบเลย
“รัฐควรส่งเสริมการปลูกในประเทศ เพื่อช่วยให้ต้นทุนการเพาะปลูกลดลง เมื่อต้นทุนพืชอาหารสัตว์ลดลง ก็จะช่วยทั้งองคาพยพ หากรัฐตั้งเงื่อนไขมากมายในจุดที่ต้นทางการนำวัตถุดิบมาใช้ แต่ไม่มองให้ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่ จนทำให้ต้นทุนสูงขึ้นนั้น ไม่เป็นผลดีใด ๆ ในภาพรวม”
ปีที่ผ่านมาในประเด็นหมูเถื่อนแม้จะลดลงจากการเอาจริงเอาจังของเจ้าหน้าที่ และจากระดับราคาในประเทศที่ไม่สูง จึงไม่จูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าผิดกฎหมาย นับเป็นอีกเรื่องที่ดีสำหรับคนเลี้ยงหมูในปีที่แล้ว แต่เรื่องแบบนี้ไว้ใจไม่ได้ ยังไม่รู้จะมีเข้ามาอีกหรือไม่ และยังคงเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งต่อไป
นอกจากนี้ ปัญหาเรื่องโรคระบาดเป็นอีกประเด็นที่น่ากังวล และส่วนใหญ่จะติดเข้ามาจากหมูลักลอบนำเข้า ซึ่งหากเจ้าหน้าที่ป้องกันได้อย่างดี ก็จะบรรเทาความกังวลเรื่องโรคไปได้บ้าง
นายคึกฤทธิ์ อารีปกรณ์ ผู้จัดการสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก กล่าวว่า สถานการณ์อุตสาหกรรมไก่ในปี 2567 ที่ผ่านมาว่า ประเทศไทยส่งออกเนื้อไก่ได้ประมาณ 1.20 ล้านตัน มูลค่า 158,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9 % เนื่องจากตลาดญี่ปุ่น มีการบริโภคเพิ่มขึ้น จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่วนตลาดยุโรปมีการจำกัดการนำเข้าจากยูเครน ทำให้ยุโรปมีการนำเข้าจากไทยและบราซิลมากขึ้น ขณะที่ตลาดอื่น ๆ เช่น มาเลเซีย และสิงคโปร์ ก็มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเช่นกัน เป็นภาพรวมที่ดีของอุตสาหกรรมเนื้อไก่ในช่วงปีที่ผ่านมา
สำหรับปีหน้า 2568 คาดการณ์ว่าภาพรวมการเติบโตของอุตสาหกรรมจะอยู่ที่ประมาณ 2% หรือส่งออกได้ที่ 1.22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าราว 161,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม อานิสงส์จากการที่ประเทศในยุโรปและสหรัฐอเมริกากำลังเผชิญกับการระบาดของไข้หวัดนกสายพันธุ์รุนแรง ส่งผลดีต่อไก่ไทยและบราซิล อย่างไรก็ดี ไทยอาจเสียเปรียบเรื่องต้นทุน ทำให้บราซิลได้ส่วนแบ่งตลาดจากอานิสงส์นี้ไปครองได้มากกว่า
สำหรับความท้าทายของอุตสาหกรรมไก่ในปีนี้คือ ต้นทุนการผลิต ที่กลายเป็นความเสี่ยงและอุปสรรคทางการแข่งขัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่มีเงื่อนไขส่งผลให้ต้นทุนสูง เช่น มาตรการ 3 :1(ซื้อข้าวโพดในประเทศ 3 ส่วน นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วน) รวมถึงค่าแรงที่ปรับเพิ่มขึ้น ตลอดจน ค่าเงินบาทที่ผันผวน ล้วนเป็นความท้าทายที่เชื่อว่าอุตสาหกรรมไก่ไทยต้องเผชิญในปีนี้
นางพเยาว์ อริกุล นายกสมาคมการค้าผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยภาคกลาง ระบุว่า ในปี 2568 จะเป็นปีที่คนเลี้ยงไก่ไข่ต้องเผชิญปัญหารอบด้าน ตั้งแต่ต้นทุนที่สูงขึ้นจากราคาข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายจากรัฐทำให้ราคาสูงขึ้น และการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท/วัน
นอกจากนี้ปัญหาโรคระบาดไข้หวัดนกในหลายประเทศ ทำให้ยิ่งต้องเพิ่มระบบการป้องกันโรคให้เข้มงวดยิ่งขึ้นซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้งบประมาณค่าใช้จ่าย ทั้งหมดล้วนกระทบต้นทุนการผลิตไข่ไก่โดยตรง หวั่นใจเกษตรกรคนเลี้ยงไก่จะอยู่ยากขึ้นในปีที่จะกำลังจะมาถึง
“ต้นทุนการผลิตเป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้ แต่บางประเด็นเช่น นโยบายข้าวโพดวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่เปลี่ยนไปจนทำให้ราคาสูงขึ้น ตรงนี้จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากรัฐ ไม่เช่นนั้น เกษตรกรหลายรายอาจไม่สามารถปรับตัวรับความเสี่ยงดังกล่าวได้ ทั้ง ๆ ที่ทุกคนมีความตั้งใจที่จะรักษาอาชีพผลิตไข่ไก่ให้ผู้บริโภครับประทานได้อย่างปลอดภัย”
นายเอกพจน์ ยอดพินิจ นายกสมาคมกุ้งไทย ฉายภาพสถานการณ์กุ้งไทยปี 2567 ว่าผลผลิตกุ้งเลี้ยงโดยรวมอยู่ที่ 270,000 ตัน ลดลง 4% จากปีก่อน ด้วยปัญหาโรคระบาดและราคากุ้งตกต่ำ ส่วนการส่งออกกุ้งเดือนมกราคา-ตุลาคม 2567 อยู่ที่ปริมาณ 109,048 ตัน มูลค่า 33,954 ล้านบาท
ความท้าทายในปี 2568 ยังคงเป็นความท้าทายเดิมที่คงอยู่มาราว 10 ปี นั่นคือ ปัญหาโรคระบาด เป็นสิ่งที่เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งทั่วประเทศเรียกร้องให้รัฐบาลใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท สำหรับแก้ปัญหาโรคระบาดให้ได้ภายใน 3 ปี
พร้อมให้คำมั่นว่าหากรัฐบาลทำสำเร็จ เกษตรกรจะสามารถบรรลุเป้าหมายผลผลิต 400,000 ตัน ซึ่งเป็นผลผลิตคุณภาพสูง กล่าวได้ว่าหากหยุดความเสียหายในตลอดสิบปีที่ผ่านมาได้ เกษตรกรก็จะสามารถทวงคืนบัลลังก์แชมป์โลกส่งออกกุ้ง และสร้างรายได้มหาศาลกลับสู่ประเทศไทยได้อีกครั้งดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา