นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึง ภาพรวมดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 4 และเฉลี่ยทั้งปี 2567 ว่า ปรับสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหาเรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน การปรับค่าบริการจึงเป็นไปอย่างจำกัด และยังพบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยมีรายละเอียด ดังนี้
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามกิจกรรมการผลิต ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 2.7 (YoY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นของค่าบริการขนส่งในทุกหมวดสินค้า
โดยหมวดผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.1 (ผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการกลั่นปิโตรเลียม สิ่งทอ อุปกรณ์ไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์) หมวดผลิตภัณฑ์จากเหมือง ร้อยละ 0.9 (ถ่านหินและลิกไนต์ ปิโตรเลียมดิบและก๊าซธรรมชาติ) และหมวดผลิตภัณฑ์เกษตรกรรมและการประมง ร้อยละ 0.6 (กลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร) ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.5 (YoY)
ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน โครงสร้างแบ่งตามประเภทรถ ไตรมาสที่ 4 ปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 1.7 (YOY) เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2566 เป็นการสูงขึ้นเกือบทุกประเภทรถที่ใช้บริการขนส่งสินค้า อาทิ รถบรรทุกวัสดุอันตราย ร้อยละ 3.8 รถตู้บรรทุก ร้อยละ 2.8 รถบรรทุกเฉพาะกิจและรถบรรทุกของเหลวสูงขึ้นเท่ากันที่ร้อยละ 2.2 รถกระบะบรรทุก ร้อยละ 1.9 และรถพ่วง ร้อยละ 0.7 ขณะที่ค่าบริการขนส่งรถกึ่งพ่วงบรรทุกวัสดุยาว ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
ส่วนเฉลี่ยทั้งปี 2567 สูงขึ้นร้อยละ 0.5 (YoY) สาเหตุสำคัญที่ทำให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 4 ปี 2567 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ปี 2566 ปรับสูงขึ้น ยังคงเป็นเรื่องของต้นทุน โดยราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศอยู่ระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประกอบกับอัตราค่าจ้างและอัตราดอกเบี้ยที่ทรงตัวในระดับสูง นอกจากนี้ ภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการขนส่งสินค้ามีมากขึ้น ค่าบริการขนส่งสินค้าจึงปรับเพิ่มขึ้น
สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทางถนน เกี่ยวกับผลกระทบจากอุทกภัยต่อค่าบริการขนส่งทางถนนในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่เผชิญปัญหา เรื่องต้นทุนการขนส่งสูง แต่เนื่องจากภาวะการแข่งขันที่สูงเช่นกัน จึงปรับค่าบริการขนส่งสินค้าได้ไม่มากนัก และยังพบว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 85.58 ไม่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีเพียงร้อยละ 14.42 เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา (กลางเดือนกรกฎาคม – กันยายน 2567)
สำหรับผลกระทบที่ได้รับ ได้แก่ เส้นทางขนส่งประจำเสียหาย และทรัพย์สินบริษัทเสียหาย ส่วนความต้องการความช่วยเหลือจากภาครัฐ อาทิ ลดหรือสนับสนุนราคาน้ำมัน ตามด้วยต้องการเงินช่วยเหลือ และให้เร่งปรับปรุงเส้นทางการขนส่ง
แนวโน้มดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนน ไตรมาสที่ 1 ปี 2568 คาดว่าจะขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ ได้แก่ การขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ภาคการท่องเที่ยว และภาคการส่งออกสินค้า ประกอบกับต้นทุนสำคัญ อาทิ ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศที่สูงกว่าไตรมาสเดียวกันของปี 2567 และอัตราดอกเบี้ยที่ยังอยู่ระดับสูง
นอกจากนี้ การขาดแคลนแรงงาน และอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ (พนักงานขับรถบรรทุก) อาจจะปรับขึ้นตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ จะส่งผลให้ค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศปรับเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การแข่งขันด้านราคาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการของภาครัฐ และความเสี่ยงจากการขยายตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ของเศรษฐกิจโลก รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน อาจจะส่งผลให้ดัชนีค่าบริการขนส่งสินค้าทางถนนไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ไม่เป็นไปตามที่คาดได้
นายพูนพงษ์ กล่าวอีกว่า ในปี 2568 ผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ของไทย รวมถึงธุรกิจให้บริการการขนส่งสินค้าในประเทศ อาจจะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก
แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ทั้งเรื่อง ภาระหนี้สินของครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง การขยายตัวต่ำกว่าที่คาดของเศรษฐกิจโลก ความไม่แน่นอนในการดำเนินมาตรการ ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ที่จะกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทย รวมถึงภาคการขนส่งสินค้าทางถนนในประเทศ
ดังนั้นผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวให้ตอบโจทย์กับความต้องการของผู้ใช้บริการในยุคดิจิทัลให้มากขึ้น โดยการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวก ระบบการให้บริการ เพิ่มศักยภาพบุคลากร และปรับปรุงกระบวนการทำงานให้มีความเชื่อมโยงระหว่างผู้ส่งมอบและผู้ใช้บริการให้มากยิ่งขึ้น