ในฐานะเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตร อาหารและผลิตภัณฑ์ในลำดับต้น ๆ ของโลก เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ และสภาพภูมิอากาศที่เหมาะสมสำหรับการทำเกษตร ทั้งการเพาะปลูก เพาะเลี้ยงสัตว์นํ้า และปศุสัตว์ ได้ตลอดทั้งปี
อย่างไรก็ตามยังมีจุดอ่อน ได้แก่ เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นรายย่อย ทำการผลิตแบบดั้งเดิมทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ดังนั้นเพื่อเป็นการยกระดับรายได้สุทธิทางการเกษตรให้เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในปี 2570 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้การกำกับนโยบายของนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้จัดทำโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”
“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “พีรพันธ์ คอทอง” อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ถึงผลการดำเนินงาน รอบ 1 ปีผ่านมา พร้อมทิศทางการขับเคลื่อน ปี 2568 ไปสู่การผลิตสินค้าเกษตรที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นตัวช่วย
ดัน 14 สินค้าเกษตร ปั๊มรายได้เพิ่ม
นายพีรพันธ์ กล่าวว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีเป้าหมายดำเนินการพัฒนาแปลงต้นแบบเกษตรมูลค่าสูงใน 500 ตำบล ภายในปี 2570 โดยในปี 2567 กรมส่งเสริมการเกษตร ได้คัดเลือก 14 พืชเกษตรมูลค่าสูง นำร่องจาก 46 กลุ่มแปลงใหญ่ ใน 46 ตำบล 42 อำเภอ 26 จังหวัด ได้แก่ กล้วยไม้ กาแฟ มะพร้าวนํ้าหอม สับปะรด หน่อไม้ฝรั่ง ลำไย มะม่วง มะขามหวาน กล้วยหอม มังคุด ส้มโอ ลิ้นจี่ ทุเรียน และส้มเขียวหวาน
ทั้งนี้ได้มุ่งเน้นให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต และมีผลผลิตต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลิตสินค้าที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน สร้างรายได้ที่มั่นคงให้พึ่งพาตนเองได้ นำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากของประเทศให้เข้มแข็งตามนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริมเพิ่มรายได้” อย่างยั่งยืน
ผลการดำเนินงานที่ประสบความสำเร็จ อาทิ 1. แปลงใหญ่กล้วยไม้ ตำบลหนองนกไข่ อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้น 1,823 กก./ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 5.8% จากที่ผ่านมา จากรายได้ 94,500 บาท/ไร่/ปี หลังเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 142,194 บาท/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้น 50.47%
2.แปลงใหญ่กาแฟ บ้านบางปูเลาะ ตำบลศรีถ้อย อำเภอแม่ใจ จังหวัดพะเยา ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 510 กก./ไร่ หรือเพิ่มขึ้น 49% จากที่ผ่านมาส่งผลให้รายได้เกษตรเพิ่มขึ้นจาก 10,200 บาท/ไร่/ปี เป็น 117,176 บาท/ไร่/ปี หรือเพิ่มขึ้นถึง 1,048% เป็นต้น
“จากผลการดำเนินงานในปีแรกจะเห็นว่าการทำเกษตรเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ จะต้องทำเกษตรในหลายอย่างในพื้นที่นั้น เช่น การปลูกพืชหมุนเวียน ในขณะที่รอผลผลิตเก็บเกี่ยว หรือการเลี้ยงผึ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นตัวอย่างความสำเร็จใน 46 แปลงใหญ่ที่กรมขับเคลื่อนในปี 2567”
เป้า 68 เพิ่ม 200 แปลงใหญ่
นายพีรพันธ์ กล่าวอีกว่า สำหรับในปี 2568 กรมยังมีการดำเนินการส่งเสริมและสนับสนุนต่อเนื่องในกลุ่มสินค้าดังกล่าว เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง และมีเป้าหมายเพิ่มอีก 200 แปลง โดยจะมีการคัดเลือก 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มวิสาหกิจ 50 แปลง, กลุ่ม Young Smart Farmer 50 แปลง และกลุ่มแปลงใหญ่ 100 แปลง เพื่อจะได้เรียนรู้ว่าแต่ละกลุ่มสามารถที่จะรับนโยบายได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งต้องยอมรับว่าทฤษฎีการเลียนแบบไม่ได้ผล 100% แต่ที่คิดว่าจะเป็นไปได้คือในกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ Young Smart Farmer
ต่อยอด GI-พ่วงสตอรี่
อย่างไรก็ดี นอกจากงานตามนโยบายแล้ว ทางกรมยังมีแผนยกระดับสินค้าเกษตรเพื่อเข้าสู่การรับรองมาตรฐานสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indications : GI) โดยให้ทำรายงานผลงานทางวิชาการเพื่อรองรับผลไม้อัตลักษณ์เพิ่มมูลค่า ประมาณ 20-30 ชนิด เช่น ใครอยากรับประทานทุเรียนที่มีวิตามินซีสูง ต้องรับประทานทุเรียน พันธุ์ “พวงมณี” รองลงมาคือพันธุ์ทองลินจง เป็นต้น หรือทุเรียนที่มีเปอร์เซ็นต์ไขมันรวมสูงสุด คือ “พันธุ์นวลทองจันทร์” รองลงมาคือ “พันธุ์จันท์”
ส่วน “ทุเรียนหมอนทอง” และ “พันธุ์นกหยิบ” มีเปอร์เซ็นต์ไขมันรวมตํ่าที่สุด นอกจากนี้ยังมีผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระสูงสุด ได้แก่ ทุเรียนพันธุ์ทองลินจง, มะม่วงเบา สงขลา, ลิ้นจี่แม่ใจ จังหวัดพะเยา และส้มแม่สิน สุโขทัย เป็นต้น สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะมีเรื่องราว (Story) เป็นการศึกษาข้อมูลทางวิชาการเชิงประจักษ์อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เพื่อยืนยันข้อเท็จจริงในความแตกต่างของสินค้าอัตลักษณ์ในแต่ละสินค้า ซึ่งมั่นใจว่าลูกค้าจะยินดีจ่ายเพิ่ม คาดจะเปิดตัวในช่วงฤดูกาลผลไม้ประมาณเดือนมีนาคม 2568
โดยสรุปโครงการสินค้าเกษตรและบริการมูลค่าสูง “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” นอกจากจะเป็นทางออกที่จะทำให้จีดีพีภาคเกษตร และรายได้เกษตรกรปรับตัวสูงขึ้นแล้ว สิ่งที่จะต้องทำควบคู่ไปด้วยคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายสินค้าคาร์บอนตํ่า ทำเกษตรอย่างเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และสามารถสร้างรายได้ได้ตลอดปี สร้างความยั่งยืน เป็นภารกิจเร่งด่วนที่จะขับเคลื่อนในปี 2568
หน้า 9 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับที่ 4,058 วันที่ 2 - 4 มกราคม พ.ศ. 2568