นายธีระชัย แสนแก้ว นายกสมาคมชาวไร่อ้อยภาคอีสาน เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” จากคำสั่งคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) ส่งหนังสือด่วนที่สุด ขอความร่วมมือไปยังโรงงานน้ำตาลทั้ง 58 แห่ง ให้รับเฉพาะอ้อยสดเข้าหีบ โดยชะลอ ระงับ ยับยั้ง และยุติการเผาไร่อ้อย รวมถึงยุติการรับอ้อยเผาไฟเข้าหีบ ระหว่างวันที่ 3 มกราคม 2568 เวลา 00.01 น. จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เวลา 23.59 น.
ระบุว่า เพื่อเป็นของขวัญวันเด็ก สำหรับเยาวชนไทยทั้งประเทศ โดยการคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่เยาวชนซึ่งเป็นอนาคตของชาติ ซึ่งจากคำสั่งนี้ทำให้พี่น้องชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลตกเป็นจำเลยสังคมมาโดยตลอด แล้วรถบรรทุกอ้อยไม่ได้วิ่งถนนใหญ่อยู่แล้วจะมาห้ามทำไม แล้วเดือนหน้าฝนก็จะตกแล้ว และที่ผ่านมาขอความร่วมมือช่วงเทศกาลปีใหม่ 7 วันอันตรายก็เพียงพอแล้วเพื่อที่จะอำนวยความสะดวก ซึ่งก่อนที่จะมีหนังสือคำสั่งออกมาควรที่จะคุยกับองค์กรเกษตรกรและโรงงานก่อนหรือไม่
“สอน.มีหน้าที่สนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทรายให้เติบโตภายใต้กฎระเบียบกติกา แต่กลับมีคำสั่งและนโยบายโรงงานงดรับอ้อยไฟมาทุกปีได้ทำตาม กติกาทุกอย่างเหลือ 25% แต่ปีนี้มีพิเศษให้หยุดเพิ่ม โดยอ้างว่าเป็นของขวัญวันเด็ก ซึ่งเป็นกิจกรรมจัดทุกปี เด็กไปเที่ยวทำเนียบ สวนสนุก สวนน้ำ และ ไปสถานที่อะไรต่างๆ ซึ่งเด็กไม่ได้มาโรงงานน้ำตาล จะมาอ้างแบบนี้ได้อย่างไร แล้วหากแล้วหากฝนตกไปเอาอ้อยไม่ได้ ใครรับผิดชอบ ลงทุนไปเท่าไรทั้งโรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อยจะหยุด 3 วันหรือ 7 วันก็มีปัญหา ดังนั้นอยากให้เอาความจริงมาพูดกัน”
นายธีระชัย กล่าวว่า ผมทำอ้อยมา 30 ปีแล้ว แต่มาในระยะหลังทำไมทำอ้อยยากอย่างนี้ ทั้งที่อุตสาหกรรมนี้มีมูลค่ารวม 3 แสนล้าน และคนที่อยู่ในแวดวงอีก ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านครอบครัว คู่สัญญาไม่ต่ำกว่า 2 แสนราย ส่งออกเป็นอับดับ 2 ของโลก สามารถนำเงินรายได้เข้าประเทศได้ 2-3 แสนล้านบาท ทำไมต้องมาเจออะไรแบบนี้
สุดท้ายอยากฝากนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นตัวแทนพี่น้องประชาชน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ช่วยกำกับดูแล ข้าราชการให้เอาความจริงมาพูด กระบวนการ 3 ขา มีข้าราชการ ชาวไร่อ้อยและผู้ประกอบการ จะต้องมาร่วมกันหารือ จะมาใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวไม่ได้ หน้าที่ต้องส่งเสริม สนับสนุนอย่าทำเรื่องเล็กให้เป็นเรื่องใหญ่ และควรทำเรื่องใหญ่ให้เป็นเรื่องเล็ก กติกาชาวไร่และโรงงานพร้อมทำ จนเหลือน้อยสุดแล้ว หากไปต่อไม่ได้ก็เลิกปลูกอ้อย
ด้านนายวิโรจน์ ผดุงกลิ่น นายกสมาคมชาวไร่อ้อยลพบุรี พร้อมด้วยคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ เข้าพบเพื่อหารือ (วันที่ 3 ม.ค. 68) เรื่องการรับอ้อยไฟไหม้ ปีการผลิต 2567/68 โดยมีข้อสรุป ดังนี้
1.โรงงานน้ำตาลและชาวไร่อ้อย พร้อมให้ความร่วมดำเนินการตามนโยบายของภาครัฐ ลดอ้อยไฟไหม้ เป้าหมายต้องควบคุมไม่เกิน 25%
2. ขอความร่วมมือโรงงานน้ำตาล ให้รับอ้อยไฟไหม้ที่ตกค้าง ตั้งแต่วันที่ 3 มกราคม ถึงวันที่ 12 มกราคม 2568 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย
3.นับตั้งแต่วันอังคารที่ 13 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โรงงานน้ำตาลต้องรับอ้อยไฟไหม้และหีบอ้อยไฟไหม้ เป้าหมายไม่เกิน 25% ทุกวัน
เฟสบุ๊คโรงงานน้ำตาลแห่งประเทศไทย โพสต์ว่า จากมาตรการของ กอน. (คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย) กำหนดให้ต้องหีบอ้อยสด 75% ข้อมูลถึง 28 ธันวาคม 2567 มีโรงงานน้ำตาล 27 แห่ง ผ่านเกณฑ์ 75% ส่วนที่เหลือ 21 แห่ง ต้องวางแผนแก้ไขปัญหาร่วมกับชาวไร่อ้อยในพื้นที่
หลังปีใหม่ โรงงานน้ำตาลเปิดครบ 58 แห่ง กรมโรงงานอุตสาหกรรมจะตรวจสอบโรงงานที่มีสัดส่วนอ้อยสดต่ำกว่า 75% อย่างเข้มงวด เช่น วัดค่าฝุ่นละอองหม้อไอน้ำ กำจัดกากของเสียอุตสาหกรรม เป็นต้น หากพบข้อบกพร่อง ส่งผลให้ถูกปิดโรงงานได้
ตอนนี้ มีโรงงานน้ำตาล 2 แห่ง %อ้อยสดต่ำกว่า 60% ถูกสั่งให้หยุดผลิตและแก้ไขฝุ่นละอองจากปล่องต้องเร่งแก้ไขตามเวลาที่กำหนด หากต้องปิดหีบอ้อยจะส่งผลกระทบเป็นต่อคนงาน ชาวไร่อ้อย ลูกค้า ธนาคารแหล่งทุน ชุมชนในพื้นที่
สำหรับปีการผลิต 2567/68
โรงงานน้ำตาลเปิดหีบอ้อย : 48 แห่ง จากทั้งหมด 58 แห่ง
อ้อยเข้าหีบประจำวันรวม : 47,047 ตัน
อ้อยเข้าหีบรวม : 17,494,509 ตัน
ค่าความหวานสะสม : 11.52 ซีซีเอส
สัดส่วนอ้อยสด : 77.83 %
ผลผลิตน้ำตาล : 94.77 กก.ต่อตันอ้อย
ผลผลิตน้ำตาลที่ 10 ซีซีเอส : 82.27 กก.ต่อตันอ้อย