ดร. อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย และกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ได้ส่งหนังสือถึง นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) เรื่อง เรื่องแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร (เงินเซสส์) สืบเนื่องจากประชุมคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ครั้งที่ 2 /2567 (14 พ.ย.67) โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิรรองนายกรัฐมนตรี รองประธานกรรมการทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
ตามวาระการประชุมที่ 3 เรื่องเพื่อทราบวาระที่ 3.1 สถานการณ์ยางพาราในหัวข้อ "สถานการณ์ยางพาราของไทย" โดยมีข้อมูลว่าการใช้ยางภายในประเทศในระยะเวลา 5 ปี ที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นจาก 0.66 ล้านตันในปี 2 5 6 2 เป็น 1.23 ล้านตันในปี 2 5 6 6 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 20.07 ต่อปี โดยในปี 2 5 6 7 สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติคาดว่าการใช้ยางในไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.63 จาก 1.23 ล้านตันในปี 2 5 6 6 เป็น 1.25 ล้านตันในปี 2 5 6 7 เนื่องจากนโยบายกระตุ้นการใช้ยางภายในประเทศโดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางล้อ ฯลฯ
“ประธานที่ประชุมมีข้อคิดเห็น เป็นข้อสังเกตต่อที่ประชุม ว่าจากรายงานสถานการณ์ การผลิตและการใช้ยางพาราทั้งโลกพบว่ามีการใช้ยางพารามากกว่าการผลิตอยู่เล็กน้อยซึ่งเป็นแนวโน้มที่ดี โดยประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตยางพาราอันดับหนึ่ง ของโลกแสดงว่าประเทศไทยมีความสามารถในการนำยางพารามาเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปได้น้อย จึงส่งออกยางพาราในปริมาณมาก
ขณะที่ประเทศอื่นๆเน้นการนำยางพาราเพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ชั้นกลางหรือชั้นปลายเพื่อการส่งออกจึงมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยทำการศึกษาข้อมูล การผลิตและแปรรูป สร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นข้อมูล ประกอบการกำหนดทิศทางการผลิตและการแปรรูปยางพาราของประเทศไทยในอนาคต จะส่งผลทำให้ประเทศไทยจะมีรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมสำเร็จรูป มีมากขึ้น โดยไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมทุกรูปแบบนอกจากนั้นผลดีของการใช้ยางภายในประเทศ เพิ่มมากขึ้นเท่าไรจะทำให้ราคายางมีเสถียรภาพมากขึ้นเท่านั้นได้ประโยชน์ตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำและปลายน้ำ
ดร.อุทัย กล่าวว่า หากในอนาคตมีการใช้ยางในประเทศมากขึ้นทุกๆปี ในทางตรงข้ามจะมีผลกระทบต่อรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักร ตามมาตรา 47 แห่งพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย พ.ศ.2558 ที่ให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็น ผู้ประกาศกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี เนื่องจากในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติ กำหนดความหมายของคำว่า “ยางพารา”หมายถึงยางและไม้ยางและคำว่า “ยาง” มีข้อยกเว้นไม่รวมถึงผลิตภัณฑ์ยางและวัตถุประดิษฐ์สำเร็จรูปจากยาง
“ ผลกระทบที่มีต่อรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวที่ลดลงจะทำให้แหล่งทุนจากกองทุนพัฒนายางพาราจะลดน้อยถอยลง กยท.ก็จะไม่อาจดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของ การจัดตั้งกองทุนพัฒนายางพาราที่กำหนดให้จัดตั้งกองทุนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนายางพาราในที่สุดก็จะกระทบต่อเกษตรกรชาวสวนยางซึ่งตามมาตรา 49 ได้กำหนดไว้ว่าการใช้จ่ายเงินกองทุน ให้กระทำอย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์ของเกษตรกร ชาวสวนยางเป็นหลัก”
อย่างไรก็ดีทางสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย ยังมองถึงอนาคตถ้าประเทศไทย ใช้ยางในประเทศที่ใกล้เคียงร้อยเปอร์เซ็นต์ดังเช่นประเทศมาเลเซียรายได้จากเงินค่าธรรมเนียมก็เกือบเป็นศูนย์ ทางประเทศมาเลเซียโดย RISDA จึงต้องทำธุรกิจหลายอย่างเพื่อให้มีรายได้มาชดเชยค่าธรรมเนียม (CESS) ที่ขาดหายไป และยังต้องขอเงินสนับสนุนจากรัฐบาลด้วย
ข้อเสนอของสมาคมฯกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดย กยท. จำเป็นต้องรีบเร่งหาแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียมในการส่งยางพาราออกนอกราชอาณาจักรควบคู่ไปกับการหาแนวทางการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติดังกล่าว โดยคณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเสนอแนวทางการบริหารจัดการเงินค่าธรรมเนียม การส่งยางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อประกอบการพิจารณาดังนี้
ข้อเสนอที่ 1. ปริมาณยางทุกชนิดที่ใช้ภายในประเทศในแต่ละปี ซึ่งเมื่อคำนวณ ตามอัตราการจัดเก็บเงินค่าธรรมเนียมการส่งยางออกนอกราชอาณาจักร เป็นเงินเท่าไร ขอให้รัฐบาลจัดสรรเป็นงบประมาณให้ การยางแห่งประเทศไทยเพื่อเป็นเงินทุนในการพัฒนายางพาราตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2558 มาตรา 49โดยเฉพาะมาตรา 49(2)เพื่อการสงเคราะห์ปลูกแทน ซึ่งต้องดำเนินการให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดทั้งนี้จะต้องแก้ไขพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2 5 5 8 โดยด่วน เพราะขณะนี้เงินค่าธรรมเนียมฯมีจำนวนลดลงปีละประมาณ 10% หรืออาจมากกว่านี้ขึ้นอยู่กับปริมาณการใช้ยางภายในประเทศ
ข้อเสนอที่ 2. ขอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณประจำปีให้การยางแห่งประเทศไทยปีละ 1% ของมูลค่าผลิตภัณฑ์ยางสำเร็จรูปที่ส่งออกของปีที่ผ่านมาในขณะที่ยังไม่มีการแก้ไข พระราชบัญญัติตามข้อเสนอที่ 1ขอให้รัฐบาลจัดสรรงบประมาณสมทบให้การยางแห่งประเทศไทยตามแผนงานในการพัฒนายางพาราอย่างเพียงพอในการตั้งงบประมาณประจำปี เงินงบประมาณที่จะสมทบให้การยางแห่งประเทศไทยนี้ก็เป็นรายได้จากการเพิ่มมูลค่าสินค้ายางพาราที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แทนที่จะขายเป็นวัตถุดิบ
"คณะกรรมการสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยจึงได้มีมติให้นำเรียนฯพณฯนายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ เพื่อ นำความเห็นและข้อเสนอแนะของสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทยเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.)โดยเร่งด่วนต่อไป" ดร.อุทัย กล่าวย้ำในตอนท้าย