นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่บีโอไอได้เน้นส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดทุกรูปแบบ ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม ชีวมวล ก๊าซชีวภาพ หรือพลังงานจากขยะ สถิติช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 - ก.ย. 2567) มีการขอรับการส่งเสริมรวม 1,252 โครงการ เงินลงทุนรวม 1.8 แสนล้านบาท
เฉพาะปี 2567 ในช่วง 9 เดือนแรก มีการขอรับการส่งเสริมรวมเกือบ 350 โครงการ เงินลงทุนรวมกันมากกว่า 85,000 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ถึง 3.7 เท่า แสดงให้เห็นถึงการตื่นตัวและความต้องการใช้พลังงานสะอาดที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
นอกจากส่งเสริมการลงทุนใหม่แล้ว บีโอไอยังกระตุ้นให้ผู้ประกอบการรายเดิมเร่งยกระดับอุตสาหกรรมและเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน(Sustainable Industry) ไม่ว่าจะเป็นปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาด ลดการใช้พลังงาน และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ปี 2565 - ก.ย. 2567) มีการขอรับการส่งเสริมภายใต้มาตรการนี้รวม 911 โครงการ เงินลงทุนรวม 47,000 ล้านบาท
“คาดการณ์ว่าในปี 2568 ยังคงมีการลงทุนด้าน Green Investment อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green)จากกระแสความยั่งยืนและนโยบายผลักดันให้ไทยเป็นเมืองหลวง BCG ของภูมิภาค อุตสากรรมยานยนต์ไฟฟ้า ที่บีโอไอจะดึงดูดการลงทุนการผลิตเซลล์แบตเตอรี่ (Battery Cell) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ EV การลงทุนผลิตและใช้พลังงานสะอาดที่จะเพิ่มสูงขึ้นตามความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอนและเป็นไปตามกติกาการค้าระหว่างประเทศ"
นายนฤตม์ กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกัน ณ ปัจจุบันมีบริษัทชั้นนำจำนวนมากมีความจำเป็นต้องเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานสะอาดในกิจการ เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการลดคาร์บอน และเป็นไปตามข้อกำหนดของคู่ค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมใหม่ ๆ ที่รัฐบาลกำลังผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นดาต้าเซ็นเตอร์ เซมิคอนดักเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ธุรกิจด้าน AI การผลิตแบตเตอรี่เซลล์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
กิจการดังกล่าวล้วนมีความต้องการพลังงานสะอาดในหลายรูปแบบ บางรายต้องการรูปแบบ Direct PPA (มาตรการการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายพลังงานไฟฟ้าได้โดยตรง) ขณะที่บางรายยอมรับกลไกอื่นได้ แต่มีเงื่อนไขสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ (1) Traceability คือ สามารถระบุแหล่งกำเนิดพลังงานสะอาดได้ (2) Additionality คือ ไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนใหม่ (New RE) และ (3) Affordability คือ ราคาที่แข่งขันได้
ในส่วนของโครงการซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบการทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโดยตรง (Direct PPA) คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้นำร่องกับธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์และเซมิคอนดักเตอร์ โดยขณะนี้กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) และบีโอไออยู่ระหว่างเร่งหารือกับนักลงทุนในกลุ่มเป้าหมายเพิ่มเติม ก่อนจะกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและอัตราค่าธรรมเนียม ภายในปี 2568
นอกจากกลไก Direct PPA แล้ว อีกกลไกหนึ่งที่กระทรวงพลังงานกำลังดำเนินการอยู่ ก็คือ Utility Green Tariff (UGT) เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับนักลงทุนที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้เช่นกัน โดย กกพ. ได้กำหนด UGT เป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ (1) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบไม่เจาะจงแหล่งที่มา (UGT1) ซึ่งได้ประกาศอัตรา UGT1 ไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และ (2) อัตราค่าบริการไฟฟ้าสีเขียวแบบเจาะจงแหล่งที่มา (UGT2) คาดว่าจะประกาศอัตราได้ภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2568