คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ได้ประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FIT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567” หรือไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรก เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นไปตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา
โดยกำหนดรับซื้อไฟฟ้าเฉพาะไฟฟ้าจากพลังงานลม ไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ และไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) ไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ รวมเป็น 2,180 เมกะวัตต์ โดยจะเน้นให้สิทธิ์ผู้ที่ไม่ได้รับการคัดเลือกในโครงการไฟฟ้าสีเขียว เฟสแรก แต่ผ่านเกณฑ์ด้านเทคนิคขั้นต่ำ และได้รับการประเมินความพร้อมตามเกณฑ์คะแนนคุณภาพแล้ว ซึ่งมีทั้งสิ้น 198 ราย จะได้รับสิทธิ์ในการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 นี้ก่อนเป็นอันดับแรก ส่วนอัตรารับซื้อไฟฟ้าพลังงานลมอยู่ที่ 3.1014 บาทต่อหน่วย และไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มอยู่ที่ 2.1679 บาทต่อหน่วย
สำหรับโครงการไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรกนี้ เกิดขึ้นหลังจาก กกพ. เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรก ไปเมื่อเดือน เม.ย. 2566 โดยมีเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้า 5,203 เมกะวัตต์ แต่มีผู้ผ่านเข้าร่วมโครงการในเฟสแรกทั้งสิ้น 175 ราย ปริมาณไฟฟ้ารับซื้อรวม 4,852.26 เมกะวัตต์ แต่เนื่องจากยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมโครงการอีกจำนวนมาก ทาง กพช. ในสมัย นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน จึงมีมติให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 โดยมีเป้าหมายรับซื้อ 3,668.5 เมกะวัตต์
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลังจากการเลือกตั้ง และนายพีระพันธุ์ เข้ามาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กระบวนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ที่ยังคงดำเนินต่อไป โดย กบง. เมื่อวันที่ 31 ก.ค. 2567 จึงได้กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 รอบแรก จำนวน 2,180 เมกะวัตต์ ดังกล่าวก่อน จากนั้นจึงจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวที่เหลืออีกประมาณเกือบ 1,500 เมกะวัตต์ ในรอบต่อไป แต่นายพีระพันธุ์ ได้สั่งการให้ระงับการรับซื้อไฟฟ้าสีเขียวเฟส 2 ดังกล่าวแล้ว
โดยนายพีระพันธุ์ ได้ลงนามในหนังสือราชการส่งถึงเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่องให้ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) เป็นการชั่วคราว
สำหรับเนื้อหาระบุว่า ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มีข้อสอบถามเกี่ยวกับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจาก “พลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรมในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT)” ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ครั้งที่ 2/2566 วันที่ 9 มี.ค. 2566 ปริมาณ 2,180 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นปริมาณการรับซื้อไฟฟ้ารวมไม่เกิน 600 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานลม และไม่เกิน 1,580 เมกะวัตต์ สำหรับพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่งเป็นการดำเนินการมาก่อนที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนปัจจุบัน จะเข้ารับตำแหน่ง โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) นั้น
จากข้อสอบถามของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบ ประกอบกับต่อมามีการโต้แย้งของบุคคลภายนอก สอดคล้องกับข้อสอบถามดังกล่าวในบางประเด็น อีกทั้ง น.ส. แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญในกรณีดังกล่าวด้วย นายพีระพันธุ์ จึงหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในเบื้องต้นเห็นควรระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมตามโครงการดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจิรงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น
ด้วยเหตุข้างต้น จึงขอให้สำนักงาน กกพ. ระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมดังกล่าวไว้เป็นการชั่วคราว จนกว่าจะตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเสร็จสิ้น และให้ดำเนินการตามหนังสือดังกล่าวโดยด่วนที่สุด
อย่างไรก็ตาม หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ได้ลงนามในประกาศเรื่องรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือก ตามระเบียบคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ.2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ.2567
ทั้งนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ได้ประชุมเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2567 พิจารณาเห็นชอบผลการคัดเลือกผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม จำนวน 8 ราย รวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ หรือ SCOD ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย รวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ 2569-2573
โดยมีการแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ
กลุ่มที่ 1 ให้การไฟฟ้าคู่สัญญาแจ้งให้ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าทราบและยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 14 วันนับถัดจากวันที่ สำนักงาน กกพ.ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมที่ได้รับการคัดเลือกตามข้อ 10 ของประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เรื่อง ประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed - in Tariff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) พ.ศ. 2567
กลุ่มที่ 2 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าที่มีรูปแบบการเชื่อมต่อสถานีไฟฟ้าเดียวกัน ตกลงรูปแบบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้าและค่าใช้จ่ายตามหลักการแบ่งปันสิ่งอำนวยความสะดวกร่วมกัน(Common Facilities Sharing) และยอมรับเงื่อนไขการลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าภายใน 60 วัน นับถัดจากวันที่ประกาศผลการคัดเลือก
สำหรับโครงการดังกล่าว กกพ.กําหนดกรอบระยะเวลาและกระบวนการเพื่อประกาศรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ภายใต้ประกาศ กกพ. เรื่อง รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สําหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 (เพิ่มเติม) ตามมติ กกพ. ในการประชุมครั้งที่ 41/2567 (ครั้งที่ 926) เมื่อวันที่ 25 ก.ย. 2567
ภายใต้ประกาศดังกล่าว กกพ. ได้กําหนดเงื่อนไขโดยจะให้สิทธิ์กับกลุ่มผู้ที่เคยยื่นข้อเสนอผลิตไฟฟ้าประเภทพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินภายใต้โครงการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงาน หมุนเวียนในรูปแบบ Feed – in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สําหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 จํานวน 198 ราย สําหรับ 2,180 เมกะวัตต์
อย่างไรก็ดี ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วันที่ 25 ธ.ค.67 มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูปแบบ FiT ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดสำหรับปี 65 –73 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์
ซึ่ง กพช. เห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค. 66 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อนเป็นการชั่วคราว เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ทำให้มองว่าด้วยปัจจัยดังกล่าวเป็นผลให้ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าในวันนี้ปรับตัวลดลง มากกว่าหุ้นกลุ่มอื่นๆ
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบของ "ฐานเศรษฐกิจ" เกี่ยวกับบริษัทที่รับผลกระทบจากการชะลอโครงการดังกล่าวพบว่า ประกอบด้วย
ส่วนไฟฟ้าสีเขียวเฟสแรก ได้เปิดรับซื้อไฟฟ้าไปแล้วเมื่อเดือน เม.ย. 2566 จำนวน 4,852.26 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มรวมกับระบบกักเก็บพลังงาน 994.06 เมกะวัตต์ , ไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์ม 2,368 เมกะวัตต์ ,ไฟฟ้าจาก๊าซชีวภาพ ไม่มีผู้ผ่านเกณฑ์ และไฟฟ้าพลังงานลม 1,490.20 เมกะวัตต์ จาก 22 โครงการ ซึ่งในส่วนของไฟฟ้าพลังงานลม มีผู้ขอยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลาง ส่งผลให้ผู้ที่ได้รับการพิจารณาทั้ง 22 โครงการ ยังไม่สามารถผลิตไฟฟ้าเข้าระบบได้ และต้องรอผลพิจารณาตัดสินของศาลปกครองกลางให้เสร็จสิ้นก่อน