ส่วนนโยบายระยะยาว ในเชิงโครงสร้างมี 6 นโยบาย ได้แก่ การจัดการน้ำท่วม-น้ำแล้ง การแก้ปัญหาหมอกควัน PM 2.5 ปัญหายาเสพติด การทลายการผูกขาด การแก้ปัญหาธุรกิจนอกระบบ และนโยบายการลงทุนครั้งใหญ่ในอนาคต โดยในเรื่องการทลายการผูกขาดได้โฟกัสไปที่เรื่องการส่งออกข้าวที่ประกาศจะปลดล็อกและสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) หรือคนตัวเล็ก รวมถึงเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรสามารถเป็นผู้ส่งออกข้าวได้เอง
ล่าสุดกรมการค้าต่างประเทศ (คต.)ได้ออกมารับลูก โดยได้ดำเนินการปรับลดขั้นตอนการขึ้นทะเบียนส่งออกข้าวจากเดิมใช้เวลา 3 วัน ให้เหลือเพียง 30 นาทีผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ขณะที่กรมการค้าภายในได้เปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเกี่ยวกับการปรับปรุงเงื่อนไข และค่าธรรมเนียมหนังสืออนุญาตประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ
ตัวอย่างเงื่อนไขที่จะปรับปรุงแก้ไข เช่น ในส่วนของเกษตรกรและสหกรณ์ที่เป็นผู้ส่งออกทั่วไป จะได้รับการยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการส่งออกเดิมที่กำหนดไว้ 50,000 บาท ขณะที่ผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะได้รับการลดค่าธรรมเนียมจาก 50,000 บาท เหลือ 10,000 บาท เป็นต้น
นอกจากนี้ จะปรับปรุงเงื่อนไขในหนังสืออนุญาตให้ประกอบการค้าข้าว ประเภทค้าข้าวส่งไปจำหน่ายต่างประเทศ ในส่วนของผู้ประกอบการ ที่มีทุนจดทะเบียน 5-10 ล้านบาท ที่เป็นผู้ค้าข้าวประเภทผู้ส่งออกทั่วไป จะปรับลดสต๊อกจาก 500 ตัน เหลือ 100 ตัน ส่วนผู้ประกอบการที่มีทุนจดทะเบียนตั้งแต่ 10-20 ล้านบาท ให้คงสต๊อกไว้ที่ 500 ตันตามเดิม เป็นต้น
การออกมาเทคแอ็กชั่นดังกล่าวของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากกระทรวงพาณิชย์ เพื่อสนองนโยบายรัฐบาล แน่นอนว่าจะช่วยลดขั้นตอนและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อส่งเสริมศักยภาพการส่งออกข้าวของประเทศได้อีกระดับหนึ่ง ซึ่งในทางปฏิบัติยังต้องใช้เวลา ขณะที่ในความจริงอีกด้านการจะส่งออกข้าวเองของผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมถึงเกษตรกร และกลุ่มเกษตรกรที่มีศักยภาพเป็นเรื่องที่ไม่ยาก แต่ก็ไม่ง่ายที่จะประสบความสำเร็จ
เนื่องด้วยเวลานี้ในข้อเท็จจริง การส่งออกข้าวของไทยมีการแข่งขันเสรีอย่างสมบูรณ์มานานแล้ว โดยข้อมูลจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ณ ปัจจุบันมีผู้ส่งออกข้าวที่เป็นสมาชิกของสมาคมฯมากกว่า 170 ราย และที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของสมาคมฯก็มีอีก 40-50 ราย ยังไม่นับรวมผู้ประกอบการโรงสีข้าวและข้าวถุงที่ผันตัวเป็นผู้ส่งออกข้าวด้วยอีกจำนวนหนึ่ง
นอกจากนี้ผู้ส่งออกข้าวไทยยังต้องไปแข่งขันกับผู้ประกอบการค้าข้าวจากประเทศผู้ส่งออกข้าวอีกหลายประเทศที่เป็นคู่แข่งสำคัญในตลาดโลก (ไทยส่งออกข้าวไปมากกว่า 170 ประเทศ) ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย เวียดนาม ปากีสถาน และปัจจุบันยังมีกัมพูชา เมียนมา ลาว เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ใช้กลยุทธ์ด้านราคาเป็นหลัก
ขณะความจริงอีกด้านการส่งออกข้าวไทยปี 2567 ล่าสุด (ตัวเลข 11 เดือนแรก) ส่งออกได้แล้วถึง 9.19 ล้านตัน และคาดทั้งปีจะส่งออกได้ไม่ต่ำกว่า 9.9 ล้านตัน มีปัจจัยจากช่วงที่ผ่านมา อินเดียผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลกได้งดการส่งออกข้าวในกลุ่มข้าวขาวมาเกือบ 2 ปี ทำให้ไทยได้อานิสงส์การส่งออกข้าวในกลุ่มนี้ ทดแทนอินเดียได้เพิ่มขึ้นกว่า 2 ล้านตัน ซึ่งเวลานี้อินเดียได้ประกาศกลับมาส่งออกข้าวขาวอีกครั้งแล้ว คาดจะทำให้อานิสงส์ในส่วนนี้ของไทยหายไป
ส่วนอินโดนีเซียที่เคยนำเข้าข้าวปีละประมาณ 4 ล้านตัน (ส่วนใหญ่นำเข้าจากไทยและเวียดนาม) ในปีนี้น้ำท่าในการทำนาของอินโดนีเซียกลับมาดี คาดการนำเข้าข้าวจะลดลง ซึ่งจะมีผลทำให้การส่งออกข้าวไทยในภาพรวมปี 2568 ลดลงอย่างแน่นอน
ดังนั้นในการลดเงื่อนไขขั้นตอน เพื่อช่วยลดต้นทุน และอำนวยความสะดวกของรัฐบาลเพื่อให้คนตัวเล็กมีโอกาสในการส่งออกข้าวได้เองถือเป็นเรื่องที่ดี จากจะช่วยเพิ่มผู้เล่นในตลาด สร้างทางเลือกให้ผู้บริโภค และช่วยเพิ่มรายได้เข้าประเทศ แต่อีกด้านถือเป็นความเสี่ยงของผู้ประกอบการมือใหม่ที่ยังไม่มีลูกค้าประจำ และไม่มีฐานที่มั่นคง ท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นทุกขณะ อาจเจ็บตัวได้