จนหันมาสร้างแบรนด์และผลิตเป็นกระเป๋าผ้าแบรนด์ “นารายา” เมื่อ 24 ปีที่แล้ว ในวันนี้ กำลังส่งต่อสู่ “พศิน ลาทูรัส” เจเนอเรชัน 2 ที่เข้ามานั่งทำหน้าที่ ผู้ช่วยประธานกรรมการบริหาร ตั้งแต่ปี 2560
“พ่อแม่สนับสนุนให้เราทำ เราแข่งรถ เป็นตัวแทนประเทศ แต่เมื่อเราเห็นพ่อแม่ทำงานหนัก และธุรกิจยังมีโอกาสที่จะเติบโตได้อีกเยอะ ผมก็อยากจะต่อยอด ตอนนี้ผมเป็นแชมป์เอเชียจากการแข่งรถ ก็ถึงจุดจุดหนึ่งที่ผมภูมิใจแล้ว มันยังมีอีก 2-3 รายการ ที่อยากแข่ง แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นตอนนี้”
ทายาทหนุ่มวัย 24 ปีคนนี้ เกิดขึ้นมาพร้อมกับแบรนด์นารายา เขาจึงผูกพันกับแบรนด์ที่พ่อและแม่สร้างมาอย่างมาก
เรียกว่าเป็นพี่คนโตของเขาเลยก็ว่าได้ เพราะในวันเกิด 3 ธันวาคม 2536 เป็นวันเดียวกับที่คุณแม่เปิดร้านจำหน่ายกระเป๋าผ้าวันแรกที่นารายณ์ภัณฑ์ “พศิน” บอกว่า หลังจากจบมาทางด้าน Business Management ก็เข้ามาช่วยคุณแม่ดูแลงานด้านการตลาด และการสร้างแบรนด์ โดยก่อนหน้านี้ เขามีงานอดิเรกเป็นนักแข่งรถ
ที่คว้ารางวัลระดับโลกมาแล้ว ด้วยความจริงจังที่อยากเข้ามาปั้นแบรนด์นารายาให้ไปไกลกว่าที่ผ่านมา เขาจึงขอหยุดพักการแข่งรถที่เขารักไว้สักพัก เพื่อเข้ามาทำงานอย่างเต็มตัว
“นารายาเป็นเหมือนพี่ของผม ผมเห็นโอกาสในหลายๆ มุม ที่เรายังไม่เคยไปแตะต้อง ทั้งการโฆษณา การตลาด เรามีของหลากหลาย ผู้หญิงทุกคนมาใช้ได้ ผมมีไอเดียนี้เพราะผมเห็นผู้หญิงถือกระเป๋าหลุยส์ กระเป๋ากุชชี่ แต่เปิดมาข้างในคือ นารายา ผมเลยอยากสื่อสารเรื่องแบรนด์ เรื่องซีเอสอาร์ เรามีชาวบ้านเกือบ 6 พันคน ที่เข้ามาช่วย เราเป็นที่โชว์เคสให้กับเขา ด้วยฝีมือของเขา เครื่องจักรยังเข้ามาแทนไม่ได้”
เป้าหมายของหนุ่มคนนี้ คือ “ผมอยากสร้างนารายาให้เป็นโกลบอลแบรนด์” เป้าหมายของเขา คือ ภายใน 3-5 ปี สินค้านารายาต้องมีช็อปไปเปิดที่ อเมริกา และยุโรป รวมถึงประเทศจีน ที่จะเปิดก่อนในปีนี้ และปีหน้าจะขยายไปยังตลาดยุโรป อาทิ ปารีส มิลาน ลอนดอน ส่วนจะไปในรูปแบบไหนนั้น เขากำลังศึกษาอยู่ ถ้าเป็นไปได้ คือ การไปเปิดช็อปเอง และส่งออกสินค้านารายาไปวางตลาด โดยเริ่มต้นจากการเปิดตลาดในรูปแบบอี-คอมเมิร์ซ ซึ่งขณะนี้ ได้ทำตลาดผ่านแพลตฟอร์ม Yungee และ VIP.com ก่อน
ระหว่างนี้ สิ่งที่เขากำลังเดินหน้าเต็มที่คือ การเสริมสิ่งใหม่ๆทางด้านการตลาดและการสร้างแบรนด์นารายาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กับชาวต่างชาติ แต่เป็นคนไทยที่ยังถือว่า ใช้สินค้านารายาไม่มากนัก เมื่อเทียบกับกลุ่มลูกค้าต่างชาติ โดยเฉพาะ ญี่ปุ่น และจีน ที่รู้จักสินค้านารายาเป็นอย่างดี ซึ่งขณะนี้เขาได้ส่งแบรนด์นารายาเข้าตลาดอี-คอมเมิร์ซไทยแล้วเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น ลาซาด้า เจดีดอทคอม ช้อปปี้
อีกสิ่งหนึ่งที่ “พศิน” เติมสีสันให้กับช็อปนารายา โดยเริ่มต้นที่ช็อปในเซ็นทรัลเวิลด์ก่อนเลยคือ การนำนวัตกรรมเทคโนโลยีเข้ามา “สร้างประสบการณ์ในการช็อปแบบใหม่ๆ” ให้กับลูกค้า เช่น การนำ Magic Mirror เข้ามาติดตั้ง ทำให้ลูกค้าสามารถเปลี่ยนสีเสื้อผ้าได้โดยไม่ต้องเดินเข้าเดินออกห้องลองหลายรอบ เพียงแค่
แต่งชุดนารายามายืนหน้ากระจกบานนี้ ก็สามารถเปลี่ยนสีเสื้อผ้าตามสต๊อกที่มีได้เลย หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ทำให้นักช็อปไม่ต้องเสียเวลา และมีความสะดวกมากขึ้น
ปีที่แล้ว ก่อนเข้ามาเริ่มงานเต็มตัว “พศิน” ได้ทดลองเข้ามาเป็นพนักงานหน้าร้าน ศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค ได้เห็นเทรนด์ของตลาด หลังจากนั้นเขาก็ไปช่วยที่โรงงาน และสิ่งหนึ่งที่เขาเริ่มสร้างขึ้นก่อนหน้านี้ คือ คลังสินค้าใหม่ ที่ลงทุนกว่า 1,000 ล้านบาท มีพื้นที่กว่า 3 หมื่นตารางเมตร โดยคลังนี้ทำให้ประสิทธิภาพของงานดีขึ้น การหยิบจับสินค้าของพนักงานสะดวกขึ้น... ผมอยากจะพัฒนา working environment คุณภาพชีวิตในการทำงานที่ดี พนักงานทำงานสะดวกขึ้น เร็วขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ...นั่นคือสิ่งที่นักบริหารหนุ่มคนนี้ได้ดำเนินการไปแล้ว
ความท้าทายของธุรกิจนี้ สำหรับคนหนุ่ม คือ การติดตามพฤติกรรมลูกค้าให้ทัน แล้วนำมาประเมิน และต้องพัฒนาให้เร็ว และด้วยความที่นารายาเป็นบริษัทขนาดกลาง เมื่อเกิดผลกระทบ หรือมีปัญหา การปรับตัวจึงสามารถทำได้อย่างรวดเร็ว
“เป้าหมายของนารายาในวิชันของผม คือ อยากเป็นโกลบัลแบรนด์ มีคนพูดว่า นารายา เหมือนซาร่า เรามีวาไรตี เราก็ว่า ถ้าเราเป็นแบบนั้นได้ ผมก็หวังว่าสักวันคนจะบอกว่า ทำแบบ นารายา นะ ผมก็จะเอาแบรนด์ไทย ด้วยฝีมือคนไทยล้วนๆ ก้าวไปสู่จุดนั้น”
นี่คือ ฝันและเป้าหมายที่ “พศิน ลาทูรัส” พร้อมก้าวต่อไป เพื่อผลักดัน “นารายา” สู่โกลบัลแบรนด์ในอนาคต
หน้า 26-27 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 38 ฉบับที่ 3,386 วันที่ 26-28 ก.ค. 2561