เปิดวิชั่นผู้นำ ‘ซีแอค’ บริหารร่วมแบบ Co-CEO  อย่างไรให้สำเร็จ

23 ต.ค. 2565 | 08:11 น.
อัปเดตล่าสุด :23 พ.ย. 2565 | 21:26 น.

ในหลายองค์กรธุรกิจของไทย เริ่มมีการแต่งตั้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม (Co-CEO) หรือผู้นำร่วม เข้ามาทำหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กร ซีแอค (SEAC) ซึ่งดำเนินธุรกิจด้านการพัฒนาศักยภาพคนและองค์กร ก็ขยับตัว

แต่งตั้ง “บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์” ขึ้นทำหน้าที่ Co-Managing Director ร่วมกับ “อริญญา เถลิงศรี” Managing Director และผู้ก่อตั้งซีแอค ด้วยเช่นกัน

 

“อริญญา” เล่าให้ฟังว่า ขณะนี้มีหลายบริษัทที่เริ่มมีผู้นำสองคน เข้ามาร่วมกันบริหารธุรกิจและขับเคลื่อนองค์กร สำหรับปัจจัยที่องค์กรต้องมี Co-CEO คือ หนึ่ง เมื่อมีภารกิจที่มากกว่าในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่เดิม หรืออยากทำอะไรที่ไม่ธรรมดาในอุตสาหกรรมที่ทำอยู่ สอง คือมองภาพว่า ต้องการที่จะได้ผลลัพธ์ในเรื่องการจัดการที่แตกต่างจากอุตสาหกรรม และ สาม มองภาพธุรกิจว่าต้องทรานสฟอร์ม โดยเห็นได้จากงานวิจัยของ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ซึ่งมี 87 บริษัทที่มี Co-CEO และสามารถทำการทรานสฟอร์มองค์กรได้สำเร็จ

“คนหนึ่งคน ไม่มีใครที่มีสกิลเซ็ทครบ คนระดับสูง จะมีโค้ชชิ่งโปรแกรม เป็นแบบตัวต่อตัว แต่ในบางอย่างไม่ใช่ตัวตนของเรา ไม่ใช่วิธีของเรา ในบางเรื่อง ต่อให้ซีอีโอมีโค้ช ก็ไม่ไ่ด้แปลว่าจะเปลี่ยนทุกอย่างได้ ...สตีฟ จ๊อบ เอง ก็คิดแบบนั้น ดังนั้น เราต้องหาคนที่มีสกิลเซ็ทที่เอื้อกัน และทั้งคู่ต้องมีความอยากเรียนรู้ อยากเอาสกิลจากอีกคนหนึ่งมาเติมตัวเองให้เต็ม”
    

“อริญญา” อธิบายเพิ่มเติมว่า คนเราเวลาสกิลเซ็ทต่างกันมากๆ อาจจะสร้างความขัดแย้ง (conflict) ในองค์กรได้ เพราะฉะนั้น ซีอีโอสองคนต้องมีมายด์เซ็ทที่สอดรับกัน สามารถมีคำตอบร่วมกันได้ และเถียงกันได้ คิดต่างได้ แต่คิดต่างแล้วต้องแน่ใจว่า แต่ในที่สุดจะสามารถหาคำตอบที่เป็น One voice ได้ ภายใต้ความรับผิดชอบในเป้าหมายเดียวกัน

ด้าน “บุณย์ญานุช” เสริมว่า ที่สำคัญคือ แต่ละคนต้องชัดเจนในบทบาท และร่วมรับผิดชอบกับผลลัพธ์ ต้องเรียนรู้ว่าจะยอบรับอีกฝ่ายได้อย่างไร ซึ่ง Co-CEO ต้องมี shared value ที่เหมือนกัน พี่ขวัญ - อริญญา มีสกิลเซ็ทในเชิงวิชาการ และมีสามเหลี่ยมที่ตรงกันพอดีในเรื่องของการขับเคลื่อนการศึกษาไทยในแนวทางที่มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น...คนระดับสูงส่วนใหญ่ ไม่ค่อยยอมรับว่าตัวเองขาดสกิลเซ็ทไหน และต้องการสกิลเซ็ทอะไรมาเสริม
    

“เราต้องยอมรับว่าเราเก่งเรื่องอะไร และโง่เรื่องอะไร...มันเป็นการรับรู้ตัวเอง เมื่อเราดันตัวเองสูงขึ้นไปเรื่อยๆ คนมักคิดว่า เราคือเทพเจ้า ลืมตัวตนว่าเราคืออะไร ลืมว่าเราเคยเป็นอะไรมาก่อน การที่คนเราตำแหน่งยิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ อีโก้มันโตตาม...เรามักจะคิดว่า จะต้องไปสร้างวัฒนธรรมที่ให้ทุกคนมาเทิดทูนเรา แบบนี้มันประหลาดมากๆ เลย”
    

“คุณปุ๋ม-บุณย์ยานุช” เปรียบเทียมตัวเองเป็นสมองซีกขวา ที่เข้ามาช่วยคิดและเติมเต็มกับสมองซีกซ้ายด้านวิชาการของ “คุณขวัญ-อริญญา” ซึ่งหลังจากร่วมงานกันมาระยะหนึ่ง ไม่มีความขัดแย้งอะไร ซึ่งทุกอย่างสามารถเดินหน้าไปด้วยกันได้ดี แนวทางของเธอคือการผลักดันให้ YourNextU School of Life ภายใต้ซีแอคเติบโตเป็นศูนย์รวมวิชาชีวิตที่ครบวงจรที่สุด ภายใน 3 ปีหลังจากนี้ ซึ่งขณะนี้ได้วางกลยุทธ์ไว้หมดแล้ว และกำลังจัดโครงสร้างใหม่ สร้างทักษะให้กับทีมที่จะเดินไปด้วยกัน ตามเป้าหมายที่กำหนด ซึ่ง YourNextU School จะเดินร่วมไปกับซีแอค โดยซีแอค คือ คนออกแบบ ส่วน YourNextU School of Life คือ การนำคนไปสู่การเรียนรู้วิชาชีวิต
    

ผู้นำร่วมของซีแอค คนนี้ ยังได้เล่าให้ฟังถึงแนวทางการสร้างและสื่อสารให้คนรู้จัก YourNextU เช่น การจัดทำกิจกรรมเปิดบ้านรีวิวคลาสเรียนของ YourNextU หรืออนาคตอาจจะมีการจับมือกับพาร์ทเนอร์ในธุรกิจอื่นๆ เพื่อสร้างโปรเจคหรือกิจกรรมร่วมกัน โดยภายในเดือนตุลาคมนี้ จะมีกิจกรรมต่อเนื่อง และภายในอีก 4 เดือนจะมีกิจกรรมใหญ่ เพื่อสื่อสารและเชิญชวนกลุ่มเป้าหมายที่จะขยายจาก B2B ไปสู่ B2C ให้มากขึ้น
    

คุณปุ๋ม” ปิดท้ายว่า เป้าหมายที่วางไว้ มีทั้งเป้าหมายรายได้ และเป้าหมายด้านฐานลูกค้าที่ต้องแฟนเบสไม่กว่า 5 แสนคนภายใน 3 ปี จากฐานปัจจุบัน 5 หมื่นคน เรียกว่าโตเป็น 10 เท่ากันเลยทีเดียว โดยรายได้จากมาจากแฟนเบสและยอดขายโปรดักต์ ขณะเดียวกันก็พยายามมองหาธุรกิจใหม่ๆ เพราะการทำธุรกิจ ถ้ามีช่องทางรายได้ทางเดียว มันลำบากและเสี่ยงมาก
    

สำหรับ Co-CEO หรือ Co-Managing Director คนนี้ เธอบอกว่า การที่ได้เข้ามาทำงานในซีแอคตรงนี้ สามารถตอบสนองทั้งเป้าหมายและ passion ของเธอได้อย่างลงตัว ซึ่งที่สุดแล้ว ก็ต้องมาดูกันว่า การทำงานในหน้าที่นี้ จะสอดประสานกับ Managing Director ฝ่ายวิชาการ จนสามารถผลักดันซีแอคให้เดินหน้าสู่สำเร็จ ได้ตามเป้าอย่างที่คิดไว้หรือไม่ 

 

หน้า 17  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,828 วันที่ 20 - 22 ตุลาคม พ.ศ. 2565