อย่างไรก็ดีการขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายดังกล่าวนั้น กำลังเผชิญความท้าทายและอุปสรรค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ กฎหมาย กฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐ และทางด้านสังคม
เมื่อมาพิจารณาความท้าทายและอุปสรรค ทางด้านเศรษฐกิจ จะพบว่า ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากยังไม่มีการใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing measures) ปัญหา fossil-fuel lock-in การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เงินลงทุนที่สูงและภาคธุรกิจบางส่วนขาดเงินทุน ราคาของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการลด ดักจับ หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกยังค่อนข้างสูง เป็นต้น
ทั้งนี้ การขาดมาตรการกำหนดราคาคาร์บอน ทำให้ภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ถึงแม้ว่าใน (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีการระบุเกี่ยวกับระบบซื้อขายใบอนุญาตการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) และภาษีคาร์บอนไว้ แต่ปัจจุบันเนื่องจาก (ร่าง) พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ยังไม่มีผลบังคับใช้
ขณะที่ประเทศไทยจึงยังไม่มีกลไกราคาคาร์บอนภาคบังคับ ในระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ ทางกรมสรรพสามิตจึงแปลงภาษีสรรพสามิตที่เดิมมีการผูกกับปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์อยู่แล้ว เช่น ภาษีนํ้ามัน ให้อยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน เพื่อไม่สร้างภาระทางภาษีเพิ่มแก่ประชาชน โดยกำหนดราคากลางที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์ ทางกรมสรรพสามิตหวังว่าภาษีคาร์บอนจะช่วยสร้างความตระหนักให้แก่ผู้บริโภคและผู้ประกอบการ ในการคำนึงต้นทุนที่เกิดจากการก่อมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมและมีแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ส่วนปัญหา fossil fuel lock-in หรือ carbon lock-in อาจส่งผลทำให้การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่าล่าช้าหรือไม่เกิดขึ้น ซึ่งปัญหาประเภทนี้เกิดจากการที่โครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น แท่นขุดเจาะนํ้ามัน โรงกลั่นนํ้ามัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน ฯลฯ ยังคงถูกใช้งานอยู่เนื่องจากเป็นโครงการที่มีอายุโครงการค่อนข้างยาว ไม่สามารถหยุดดำเนินการได้ในทันทีถึงแม้ว่าจะมีทางเลือกอื่นที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตํ่ากว่าก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ บางธุรกิจที่มีโครงสร้างพื้นฐานหรือสินทรัพย์ในลักษณะเช่นนี้อยู่ การเปลี่ยนผ่านไปสู่ทางเลือกที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงจึงล่าช้าหรือยังไม่เกิดขึ้น จากงานศึกษาของUnruh (2002)และTrencher & Asuka (2020)พบว่าปัญหา carbon lock-in ทำให้เกิดความเสี่ยงหลายประการต่อภาคพลังงานหมุนเวียน รวมถึงการละเลยเทคโนโลยีทางเลือก การขัดขวางการส่งเสริมสิ่งอำนวยความสะดวกส่วนกลาง การจำกัดนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และการบิดเบือนสภาพเศรษฐกิจ
อีกทั้ง ธุรกิจมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน เพื่อใช้ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานศึกษาของ Foda & Vaziri (2022)และ Creagy (2024) พบว่า ธุรกิจที่เผชิญข้อจำกัดทางการเงิน อาจมีแรงจูงใจในการลงทุนน้อยลง โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร (fixed assets) ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจมีแรงจูงใจในการลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากขึ้น การผ่อนคลายหรือปลดล็อกข้อจำกัดทางการเงินจึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
จากการประมาณการโดย Creagy (2024)การลงทุนในเทคโนโลยีและแนวทางลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามที่ระบุไว้ใน Nationally Determined Contribution (NDC) ต้องใช้เม็ดเงินสนับสนุนประมาณ 5-7 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะการลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่งและพลังงาน ด้วยเหตุนี้ กลไกการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate finance) จึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่ง
ขณะเดียวกันต้นทุนเทคโนโลยีในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ค่อนข้างสูง เป็นอุปสรรคสำคัญที่ส่งผลทำให้ธุรกิจไม่ลงทุนด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก งานศึกษาของGillingham & Stock (2018)ชี้ให้เห็นว่า มาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะมีต้นทุนที่แตกต่างกัน มาตรการในลักษณะของการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน จะมีต้นทุนที่ติดลบหรือสามารถช่วยธุรกิจในการประหยัดต้นทุน ในขณะที่มาตรการประเภทการอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แบตเตอรี่ (dedicated-battery electric vehicle subsidies) จะมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง
ขณะที่การใช้เทคโนโลยีการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ในโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ อุตสาหกรรมเหล็ก มีต้นทุนส่วนเพิ่มที่ค่อนข้างสูง ซึ่งอาจยังไม่จูงใจให้ธุรกิจลงทุนในเทคโนโลยีประเภท CCS ในปัจจุบัน
บทความโดย : กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์
หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,059 วันที่ 5 - 8 มกราคม พ.ศ. 2568
ข่าวที่เกี่ยวข้อง