"พีเอสเจม" ประคองตัวรอเศรษฐกิจฟื้น ก่อนลุยขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งผู้ค้า "มรกต"

26 พ.ย. 2565 | 05:53 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ย. 2565 | 13:10 น.

"พีเอสเจม สตูดิโอ" ลุยจับตลาดต้นน้ำธุรกิจจิวเวลรี่ นำเข้า”มรกต”จากประเทศโคลัมเบีย ส่งต่อซัพพลายเออร์โรงงาน เผยช่วง 2 ปีที่เศรษฐกิจชะลอ ขอประคองตัว หยุดการลงทุน ก่อนเตรียมลุยต่อในปี 2567 พร้อมก้าวสู่ผู้ค้า "มรกต" เบอร์ 1 ของประเะทศ

ผลกระทบที่เกิดจากสภาพเศรษฐกิจทรุด จากโควิด -19 กำลังคลี่คลาย หลายธุรกิจเริ่มขยับกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ในขณะที่ธุรกิจอัญมณี ยังทำได้เพียงแค่ประคองตัว รอเศรษฐกิจฟื้นตัวเต็มที่ ธุรกิจนี้จึงจะฟื้นตัวได้อย่างจริงจัง 

 

"ภาณุวัฒน์ ทรัพย์มณีอนันต์" หรือ "ก๊อป" กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีเอสเจม สตูดิโอ จำกัด เล่าถึงการทำอัญมณีในช่วงนี้ว่า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกอยู่ในภาวะไม่แน่นอน และยังมีแนวโน้มซบเซาต่อเนื่อง สินค้าของบริษัทซึ่งถือว่า เป็นสินค้าฟุ่มเฟือย น่าจะได้รับผลกระทบเป็นเวลานานพอสมควร ทำให้บริษัทวางเป้าหมายในปี 2565-2566 เน้นการประคองตัว และจะยังไม่มีการลงทุนเพิ่มใน 2 ปีนี้

ส่วนในปี 2567 เป็นต้นไป ถ้าเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะฝั่งประเทศจีนและอินเดีย ที่เป็นฐานลูกค้าหลักของบริษัท มีสัญญาณฟื้นตัว บริษัทก็พร้อมที่จะเพิ่มขนาด Inventory และปริมาณการซื้อขาย เพื่อชดเชยรายได้ที่อาจขาดหายไปในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว

\"พีเอสเจม\" ประคองตัวรอเศรษฐกิจฟื้น  ก่อนลุยขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งผู้ค้า \"มรกต\"

 

"ส่วนตัวมองว่า ปัญหา Covid-19 อาจจะจบแล้วในหลายประเทศ แต่ปัญหาเศรษฐกิจนั้น เพิ่งจะเริ่มต้น สินค้า Luxury มีลักษณะ “โดนก่อน ฟื้นที่หลัง” เพราะฉะนั้นในอนาคต 3-5 ปี ข้างหน้า ถ้าพูดอย่างตรงไปตรงมา เราไม่ได้มองถึงการเติบโต แต่มองที่การประคองตัว ชะลอการลงทุน ชะลอการนำเข้าเป็นหลัก"

"ภาณุวัฒน์"เล่าว่า เขาเติบโตมากับธุรกิจจิวเวลรี่ของครอบครัว โดยเฉพาะงานหลังบ้าน จนทำให้เกิดความสนใจเป็นพิเศษกับ "มรกต" ซึ่งเป็นอัญมณีที่มีมูลค่าสูง มาร์จิ้นดี และมีความสัมพันธ์กับซัพพลายเออร์มรกตมากเป็นพิเศษ ประกอบกับมีแหล่งที่มาจากโคลัมเบีย (Colombia) ซึ่งห่างไกลจากไทย ทำให้มีผู้เล่นไม่มาก ในขณะที่ไทยเองก็มีพลอยหลากหลายชนิด

\"พีเอสเจม\" ประคองตัวรอเศรษฐกิจฟื้น  ก่อนลุยขึ้นแท่นเบอร์หนึ่งผู้ค้า \"มรกต\"

ผู้บริหารหนุ่มคนนี้ ได้นำจุดแข็งของของตัวเอง ที่คลุกคลีกับธุรกิจจิวเวลรี่ของที่บ้านมานาน นั่งบริหารธุรกิจในตำแหน่ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท จัสมิน จิวเวลรี่ กรุ๊ป จำกัด มาหลายปี ทำให้รู้ความต้องการของตลาด รู้ว่าโรงงาน ร้านค้า ต้องการพลอยแบบไหน รูปร่างหน้าตาอย่างไร ในขณะที่ผู้บริโภคเขาซื้ออะไร ชอบอะไร ก็นำความต้องการเปล่านั้นมาแมทช์กัน ทำให้สามารถเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการตลาดมากที่สุด

 

"พลอยบางอย่าง หรือบางรูปทรง มีข้อจำกัดกับโรงงาน หรือบางแบบลูกค้าไม่ชอบ ตรงนี้เราเข้าใจและเลือกได้ตอบโจทย์ทั้ง 2 ฝั่ง ทำให้พีเอสเจม ไม่ค่อยมี dead stock ทำให้เราสามารถบริหาร Inventory ได้ดี เมื่อเราทำได้ดีกว่า ก็ไม่ต้องบวกมาก ราคาขายของพีเอสเจมเลยดีกว่าที่อื่น" 

 

ทำธุรกิจซื้อ-ขาย”มรกต”จากประเทศโคลัมเบียของพีเอสเจม เป็นรูปแบบ trade และปรับปรุงคุณภาพมรกต เช่น การนำไปเจียระไนเพิ่มเติม ให้มรกตมีคุณภาพมากขึ้น รวมถึงการนำพลอยคุณภาพสูงไปผ่านกระบวนการตรวจสอบกับสถาบันอัญมณีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล เพื่อออกใบรับรอง (Certificate) ให้กับพลอยแต่ละเม็ด

 

สินค้าที่จำหน่ายจะอยู่ในรูปแบบของพลอยร่วง (Loose stones) ไม่มีการนำไปขึ้นตัวเรือน เพื่อทำเป็นเครื่องประดับ (Jewelry) และขายในรูปแบบ Wholesaling คือขายให้กับพ่อค้าพลอยในตลาด เพื่อที่พ่อค้าพลอยเหล่านั้นจะนำไปขายต่อให้กับบริษัททำเครื่องประดับต่อไป

 

การทำธุรกิจของ"ภาณุวัฒน์"นอกจากประสบการณ์และความชำนาญที่ทำให้เลือกสินค้าได้ตอบโจทย์ตลาดแล้ว ยังเน้นการทำธุรกิจแบบ “มีวินัยกับตัวเอง แต่อะลุ่มอล่วยกับคนอื่น” ซึ่งเป็นวิธีคิดที่ได้มาจากประสบการณ์ส่วนตัว เพราะเคยลองทำสลับกันแล้ว ผลที่ได้มีแต่ปัญหาล้วนๆ ทั้งปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงปัญหาเรื่องความสัมพันธ์

 

"ภาณุวัฒน์" ขยายความการ “มีวินัยกับตัวเอง แต่อะลุ่มอล่วยกับคนอื่น” ว่า อย่างเรื่ืองการชำระเงินกับซัพพลายเออร์ เมื่อครบกำหนดจะชำระทันที แม้ในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัว และถ้าสามารถชำระก่อนกำหนดได้ ก็จะทำทันทีเช่นกัน และในทางกลับกัน ถ้าลูกค้าผิดชำระเล็กน้อย โดยที่มีเหตุผลที่พอเข้าใจได้ ก็จะผ่อนผันให้เป็นระยะ 

 

วิธีปฏิบัตินี้ เมื่อทำเรื่อยๆ พีเอสเจมก็กลายเป็นลูกค้าชั้นดีของซัพพลายเออร์ ที่ได้รับความไว้วางใจ ขณะเดียวกัน ก็เป็นซัพพลายเออร์ใจดี ที่ลูกค้าพร้อมดิวงานด้วย 

 

การแยกตัวออกมาจับธุรกิจต้นน้ำของ "ภาณุวัฒน์" เริ่มมาได้ 2-3 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่โควิดเริ่มระบาดพอดี แต่การออกมาลุยธุรกิจต้นน้ำของเขา ไม่ได้มาเล่นๆ แต่เปนการมองเห็นโอกาส และภาพรวมของตลาดจิวเวลรี่ที่เริ่มอิ่มตัวสำหรับตลาดในประเทศ แม้แต่ตลาดแต่งงานก็ใช้เครื่องประดับน้อยลง ทำให้ผู้เล่นที่สายป่านสั้นต้องล้มหายไปจากตลาด 

 

การแยกออกมาจับธุรกิจต้นน้ำ อยู่ในฝั่งวัตถุดิบจึงถือเป็นโอกาสที่น่าสนใจ และน่าจับตามากๆ โดย "ภาณุวัฒน์" วางเป้าหมายของธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นว่า จะก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งผู้ค่ามรกตอันดับ 1 ของไทยให้ได้ ภายใน 10 ปี