ทายาทเจน 2 ของร้านเพชร “อนันทา” ยอมรับและไม่ปฏิเสธว่า ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดต่อกัน
“วิน” เล่าว่า เขาเองก็ไม่ปลื้ม ที่จะให้มานั่งเฝ้าร้านทุกวัน รอลูกค้าเดินเข้ามาซื้อ มันเป็นอะไรที่น่าเบื่อ และก็ไม่อินด้วย โดยส่วนตัวเขาสนใจงานเกี่ยวกับพวกแฟชั่นไลฟ์สไตล์ และชอบการค้าขาย เมื่อครั้งไปอยู่ออสเตรเลีย ได้เรียนรู้การขายของออนไลน์ นำสินค้าแฟชั่น อาทิ รองเท้า กระเป๋า นาฬิกา ไปขายผ่านอีเบย์ จนมีเงินเก็บเป็นแสน และมีความฝันที่จะเปิดร้านมัลติแบรนด์เป็นของตัวเอง
หากแต่ด้วยความเป็นทายาท เป็นส่วนที่ทำให้เขาปฏิเสธการสืบทอดธุรกิจครอบครัวได้ยาก และเขาเองก็ช่วยทำระบบหลังบ้านให้กับธุรกิจของครอบครัวมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ปี 2 ที่คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จริงๆ “วิน” ก็ซึมซับกับธุรกิจครอบครัวมาตั้งแต่เด็ก เพราะคุณพ่อของเขาเริ่มต้นธุรกิจจิวเวลรี่มาพร้อมๆ กับตอนเขาเกิด...ในยุคพ่อ
เริ่มต้นทำร้านเพชร ชื่อร้าน อมรินทร์ บาซา ตั้งอยู่ที่อมรินทร์ พลาซ่า ในร้านมีทั้งเพชร พลอย และกระเป๋า ในชื่อร้าน อมรินทร์ บาซา ลูกค้าส่วนใหญ่เป็นต่างชาติ แต่เมื่อเขาต้องเข้ามารับสืบทอด เขาได้นำความรู้ความสามารถด้านการขายที่มี บวกกับไอเดียใหม่ๆ เข้าไปนำเสนอ แม้คุณพ่อ-คุณแม่ จะไม่ได้เห็นด้วย 100% แต่ก็เปิดโอกาสให้เขาได้ลองทำ
“วิน” เริ่มทำเวปไซด์ให้กับแบรนด์จิวเวลรี่ของครอบครัว ตั้งแต่ 15 ปีก่อน ซึ่งตอนนั้น เวปไซด์หรือการขายของออนไลน์ ยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก เขาได้เข้ามาสร้างเวปไซด์ เปิดเพจ ทำกระทู้ สร้างคอมมูนิตี้ และเริ่มมีรีวิว มีการจัดระบบหลังบ้าน ทำให้แบรนด์ ซึ่งตอนนั้นเปลี่ยนมาเป็นแบรนด์ “อนันทา” แล้ว 1 ปี เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
ซีอีโอหนุ่มคนนี้ เริ่มวางโพซิชั่นของแบรนด์ “อนันทา” ให้ชัดเจนมากขึ้น จากร้านเดิมที่มีทั้งพลอย เพชร กระเป๋า เปลี่ยนเป็นนำความเชี่ยวชาญเรื่องเพชรมาชูโรง และตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาดขายเพชรเม็ดเดี่ยว เปลี่ยนรูปแบบการขาย จากเมื่อก่อนคนซื้อแหวน เขาจะขายเป็นชิ้นๆ คนดูเลือกจากแบบที่มีอยู่แล้ว ก็เปลี่ยนมาเป็นการแยกขาย ระหว่างเพชร กับจิวเวลรี่ตัวเรือน ลูกค้าอยากได้เพชรแบบไหน อยากได้ตัวเรือนแบบไหน นำมาแมทช์กัน
“เราสอนให้ลูกค้าอ่าน certificate ลูกค้าต้องรู้ก่อนว่า จะซื้อเพชรแบบไหน เลือกอย่างไร เราทำเป็นเซอร์วิส เรียก “อนันทา เพลท” แล้วมาดูที่แบบว่าคุณต้องการแบบไหน เราเอาสองส่วนมาประกบกัน ลูกค้าตอบรับดีมาก “อนันทา” เป็นแบรนด์แรกที่ให้บริการโมเดลแบบนี้ มันทำให้ลูกค้าเกิดความมั่นใจ เชื่อถือ และบอกต่อ และทำให้แบรนด์โตขึ้น”
เป้าหมายของ “วิน” คือ การเป็น Upscaled Diamond Boutique คำว่า Upscaled คือ คุณภาพสินค้า บริการ แพ็กเกจจิ้ง บริการหลังการขาย นี่คือ ประสบการณ์ที่ลูกค้าได้รับในการเข้ามาซื้อของ
แม้ในช่วงโควิด -19 ที่การขายได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์ประเทศ แต่ธุรกิจของ “อนันทา” ก็ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อย ด้วยการนำเทคนิคการขายแบบออนไลน์ มาผสมผสานกับเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ ทั้งการ Live สดโชว์สินค้า การทำวิดีโอคอลล์ และ Customer Service ที่บริการตอบคำถามลูกค้าถึงเที่ยงคืน
เมื่อถามถึงความท้าทายของการบริหารธุรกิจจิวเวลรี่ “วิน” ตอบว่า ธุรกิจนี้มีความละเอียดอ่อนในทุกๆ แง่ ทั้งตัวสินค้า การทำร้าน การทำตลาด การเข้าถึงลูกค้า เพราะมันเป็นของมีมูลค่า ลูกค้าจะซื้อของชิ้นหนึ่งเขาใช้เวลาในการตัดสินใจเยอะ ถ้าสามารถเข้าใจตรงนี้ได้ คือ โอเค
ในวันนี้ “วิน” พยายามทำความเข้าใจลูกค้าของเขา พร้อมนำไอเดียที่แตกต่าง รวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่น่าสนใจ อย่างเครื่องค้นหาเพชรจากทั่วโลก 3D Dimond ซึ่งเป็นเครื่องเดียวในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่นำมาสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้า อยากได้เพชรแบบไหน มาลองสวมใส่ในนิ้วได้เลย อยากได้เพชรแบบนี้ ที่ไหนมี สามารถสแกนหาได้เลย ราคาก็เป็นเรียลไทม์ และทางร้านสามารถหาเพชรที่ลูกค้าต้องการได้ ภายใน 2 อาทิตย์ เป็นฟรีเซอร์วิสให้ลูกค้า
การปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจจิวเวลรี่ ให้มีความแตกต่างไปจากเดิม ทำให้ “วิน” ได้ฐานลูกค้าใหม่ในกลุ่มคนวัยทำงานเพิ่มขึ้น แต่เขาบอกว่า นี่ ยังไม่ใช่ที่สุดของความสำเร็จ เพราะเขาเชื่อว่า เขาและทีมงานยังสามารถพัฒนาต่อได้อีก สามารถทำให้ดีขึ้นได้อีก โดยเฉพาะการทำให้คนทั่วไปรู้สึกว่า เพชร ไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราสามารถซื้อหาเพชรมาสวมใส่ได้ในโอกาสต่างๆ นั่นคือ แนวทางที่จะทำให้ตลาดเพชร สามารถขยายและเติบโตได้อีก
และนั่นคือ เป้าหมายสูงสุดที่ “วิน-ธนันชัย กนกวลีวงศ์” พยายามก้าวเดินต่อไป
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,818 วันที่ 15 - 17 กันยายน พ.ศ. 2565