ในโลกธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการแข่งขัน และการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว อาชีพ “ที่ปรึกษา” ที่ “ทนงศักดิ์ ประดิษฐาน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซเว่น คอนเนค แอดไวซอรี่ จำกัด เลือกทำ ถือเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่น่าสนใจ แต่ก็ใช่ว่าใครจะเข้ามาทำอาชีพนี้ได้ง่ายๆ “ซีอีโอ โฟกัส” จึงขอพูดคุกับซีอีโอท่านนี้ เพื่อเจาะให้เห็นว่า อะไรคือความพิเศษที่แตกต่าง ที่ทำให้ “เซเว่น คอนเนค แอดไวซอรี่” สามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง
“ทนงศักดิ์” เล่าว่า เดิมทีเขาคือ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต (CPA) ที่ทำหน้าที่ตรวจบัญชีให้กับบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งในการทำหน้าที่ตรงนั้น เขาไม่ได้ทำแค่การตรวจสอบ แต่ยังให้คำปรึกษากับลูกค้า เมื่อวันหนึ่งที่ออกมาทำงานของตัวเอง จึงมีลูกค้าตามมาใช้บริการต่อเนื่อง
“การทำงานของเรา คือ งานเฉพาะตัวที่คนอื่นทำไม่ได้ คนก็เลยตามมา แล้วก็แนะนำต่อเนื่อง จนเรามีลูกค้ามากมาย ถ้าเป็น Public Company ก็เกิน 50 บริษัทที่เรารู้จัก แต่ถ้ารวมทั้งหมดก็เกือบ 200 บริษัท”
“ทนงศักดิ์” บอกว่า งานของเขาไม่มีคู่แข่งโดยตรง และไม่มี Position นี้ในสายงานอาชีพ งานของเขาคืองานหลังบ้านของบริษัทที่ต้องการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
“ผมไม่ใช่ Financial Advisor หรือที่ปรึกษาทางการเงิน แต่ผมเป็น advisor เป็นแค่ที่ปรึกษาเฉยๆ ที่ทำหน้าที่เหมือนนักปั้นดารา คนหล่อ คนสวย เราต้องใช้ให้เป็น เวลาเราคุยกับบริษัทที่เขาอยากเข้าตลาดฯ ทุกคนคิดว่าตัวเองสวยหล่อหมด อยากจะระดมทุน แต่สวยอย่างเดียวมันเล่นละครไม่ได้ หรือกำไรอย่างเดียวก็มันเข้าตลาดฯ ไม่ได้”
ความยากของการทำหน้าที่ตรงนี้ ต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัว รวมทั้งประสบการณ์์ ที่จะเข้าไปดูโครงสร้างของแต่ละธุรกิจ การเคลียร์บัญชีให้ชัด งบการเงินที่มันยากๆ ทั้งหลาย การควบคุมภายใน...เวลาผมเข้าไปดูธุรกิจที่จะเข้าตลาดฯ ผมจะไปจัดโครงสร้างบริษัทให้เขา เคลียร์ conflict of interest อะไรที่ต้องตัดออก อะไรที่เดินต่อได้ ทำเรื่องคู่มือการปฏิบัติงาน อำนาจในการอนุมัติ นโยบายต่างๆ ที่จำเป็นจะต้องใช้ เพื่อซัพพอร์ต Internal Auditor และ External Auditor รวมทั้ง Financial Advisor (FA)
อีกส่วนที่สำคัญคือ งบการเงิน (Financial Statements) ซึ่งปัจจุบันจะค่อนข้างยาก เพราะกฎใหม่ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ต้องใช้งบการเงิน ชุดใหญ่ 3 ปีย้อนหลัง ซึ่งจริงๆ มันต้องบวกไปอีก 2 ปี เป็น 5 ปี บวกอีกปีในการยื่น เพราะฉะนั้น ทุกวันนี้ ธุรกิจใหญ่ๆ เขาไม่รอแล้ว เขาเลยมา M&A (Mergers and Acquisitions) หรือไปรวมกับบริษัทมหาชนเลย จะดีกว่าและเร็วกว่า
ปัจจุบัน “ทนงศักดิ์” บอกว่า บริษัทของเขาซึ่งมีทีมงานกว่า 100 คน ประมาณ 70 คน คือคนที่มีทักษะพิเศษในแต่ละด้านที่เกี่ยวข้องกับการเข้าตลาดฯ ไม่ว่าจะเป็น FA ผู้ตรวจสอบบัญชี มี Internal Auditor และ External Auditor ที่มีไลเซนท์ทั้งหมด ซึ่งที่ผ่านมาบริษัทที่เข้ามาใช้บริการส่วนใหญ่ใช้เวลา เฉลี่ย 2 ปี ในการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้สำเร็จเรียบร้อย
ในกลุ่มของ “เซเว่น คอนเนค แอดไวซอรี่” ที่เปิดบริการมาเป็นปีที่ 10 ด้วยแบล็คกราวด์ของซีอีโอ ที่มาจากผู้ตรวจสอบบัญชี และเพื่อนๆ ที่เป็น FA รวมทั้งพาร์ทเนอร์ในอีกกว่า 50 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมทั้งยังมีธุรกิจ Due Diligence หรือ การสอบทานธุรกิจ (Business Review) “ทนงศักดิ์” จึงต่อยอดธุรกิจไปสู่การรับทำ M&A (Mergers and Acquisitions) ภายใต้อีโคซิสเต็มที่เขามีอยู่ เพื่อรองรับโอกาสและทิศทางธุรกิจที่เปลี่ยนไป
“โอกาสในธุรกิจของผม ถ้ามองในอีโคซิสเต็ม จะค่อนข้างครบ บริษัทในตลาดฯ ที่เข้ามาหาถ้าจะทำอะไรเรามีค่อนข้างครบ แต่ถ้าไม่มีเดี๋ยวเราหาให้ ตอนนี้ทุกอย่าง มันถูกปูทาง จนมาถึงธุรกิจ M&A งานที่ปรึกษา หรืองานอื่นๆ มันกลายเป็นงานต่อยอดไป M&A ได้ทั้งหมด”
“ทนงศักดิ์” เล่าว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำธุรกิจ ลูกค้าเข้ามาใช้บริการของเขาด้วยความเชื่อและไว้วางใจ แน่นอนว่า งานนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดฯ เป็นงานที่ค่อนข้างยุ่งยาก แต่เขาก็มีทีมผู้เชี่ยวชาญและเครือข่ายพันธมิตรที่ซัพพอร์ตได้ ซึ่งที่ผ่านมา 10 ปี มีบริษัทที่เขาให้คำปรึกษาเข้าจดทะเบียนแล้วกว่า 20 บริษัท และในปีนี้ที่ถืออยู่ในมือมากกว่า 35 บริษัท ส่วนงาน M&A เป็นงานแฮนด์เมด แต่ละเคสที่ทำมีความแตกต่าง ซึ่งปีนี้ทั้งปี มีงาน M&A ประมาณ 5 เคส และที่มีการพูดคุยอีก 10-20 เคส
เป้าหมายของผู้บริหารท่านนี้ เขาวางไว้ประมาณปีหน้า จะนำ “เซเว่น คอนเนค แอดไวซอรี่” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อเดินหน้าสู่การเป็นศูนย์กลางของตลาดทุนทั้งหมด ซึ่งจะต้องมีแขนขาพร้อม สร้างอีโคซิสเต็มให้ครบวงจร และเมื่อถึงเวลานั้น เขาจะเดินหน้าสู่เป้าหมายสูงสุด คือ การเอาชนะบริษัทต่างชาติ ระดับบิ๊ก 4 ให้ได้
หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,876 วันที่ 6 - 8 เมษายน พ.ศ. 2566