‘เดอะคอลล่า’ เล็งปรับตัว รุกตลาดออนไลน์  ปรับร้านสู่มัลติแบรนด์

13 เม.ย. 2566 | 06:15 น.

เดอะคอลล่า เชิ้ตเมคเกอร์ ร้านตัดสูท พรีเมี่ยม เตรียมปรับตัวสู่ตลาดออนไลน์พร้อมขยับสู่ร้านมัลติแบรนด์ สร้างความต่าง เพิ่มกิมมิกด้วยความละเอียด ใส่ใจด้านบริการ

“วรางคณา ประดิษฐ์ผล” หรือ “คุณกิ๊ก” กรรมการผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนสามัญ เดอะคอลล่าเชิ้ตเมคเกอร์ เล่าว่า ธุรกิจสูทและเสื้อเชิ้ต เป็นธุรกิจที่ยังมีโอกาสมหาศาลในไทย เนื่องจากสูทและเสื้อเชิ้ตคุณภาพ ในราคาที่จับต้องได้ ยังเป็นที่ต้องการของตลาด ร้านที่ตัดสูทและเสื้อเชิ้ตที่ทำให้ผู้สวมใส่มีบุคลิกภาพที่ดูดียังมีน้อย เนื่องจากสรีระของผู้สวมใส่แต่ละคนต่างกัน ต้องมีการตัดแบบและขนาดที่เหมาะสมจริงๆ ซึ่งร้าน เดอะคอลล่า เชิ้ตเมคเกอร์ ของเธอต้องการเข้ามาตอบโจทย์ในจุดนี้
  ‘เดอะคอลล่า’ เล็งปรับตัว รุกตลาดออนไลน์  ปรับร้านสู่มัลติแบรนด์

“วรางคณา” หรือ “กิ๊ก” เล่าว่า เธอเปิดร้านเดอะคอลล่าฯ ขึ้นมา โดยตัวเองก็ไม่ได้เรียนจบด้านแฟชั่น หรือการตัดเย็บเสื้อผ้า เธอเรียนจบมาทางด้านบริหารธุรกิจจาก มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค แต่ด้วยความที่อยากลองทำอะไรที่ตอบโจทย์ความเป็นตัวของตัวเองจริงๆ จึงได้เริ่มธุรกิจจากความชอบแต่งตัวและศึกษาจริงจัง โดยช่วงที่จบมาใหม่ๆ ก็ลองไปสมัครและทำงานองค์กรมาแล้ว แต่คิดว่า ไม่ใช่สิ่งที่ตัวเองต้องการ จึงเปลี่ยนฟิวด์ทันที 

‘เดอะคอลล่า’ เล็งปรับตัว รุกตลาดออนไลน์  ปรับร้านสู่มัลติแบรนด์

“เราชอบเสื้อผ้า แต่เราไม่เรียนจบแฟชั่นดีไซน์โดยตรง ก็มานั่งคิดว่าอะไรที่เหมาะสม ในที่สุดก็ออกมาเป็นเสื้อผ้าผู้ชาย ซึ่งก็คือสูทและเสื้อเชิ้ต ที่เชื่อว่ามันจะยังอยู่อีกเป็นร้อยๆ ปีแน่ๆ และถ้าเทียบกับต่างประเทศ คนไทยยังใช้สูทน้อยมาก” 

‘เดอะคอลล่า’ เล็งปรับตัว รุกตลาดออนไลน์  ปรับร้านสู่มัลติแบรนด์

เมื่อคิดแล้ว ก็ต้องลงมือทำทันที โดยตั้งข้อสังเกตว่าเสื้อเชิ้ตที่ดี และไม่ดีต่างกันอย่างไร สรุปปัจจัยสำคัญคือ ผ้าและช่าง แต่แม้ว่าปัจจัยจะน้อย เมื่อลงมือทำจริงๆ ก็ไม่ง่าย ทั้งการหาช่างที่ดี และผ้าที่ใช่ ก็ใช้เวลาอยู่เกือบปี กว่าจะได้ผ้าและช่างที่ลงตัว และการเลือกสถานที่ในการเปิดร้าน ซึ่งก็ทำได้ดีและประสบความสำเร็จตั้งแต่เริ่มต้น เพราะจุดที่ตั้งของร้านในวิลล่ามาร์เก็ต อารีย์ ย่านนั้นยังไม่มีร้านตัดสูทตัดเสื้อเชิ้ตแบบเดอะคอลล่า เชิ้ตเมคเกอร์ 

การเริ่มต้น “คุณกิ๊ก” ลุยเองทั้งหมด ตั้งแต่การทดลองทำเสื้อเชิ้ต เสื้อสูท รวมไปถึงการหาพื้นที่ร้าน การตกแต่งร้าน การทำงานทุกอย่างพยายามลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด แม้เธอและครอบครัวจะไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน แต่เริ่มต้นเธอก็สามารถคุมต้นทุนได้ดี 
 

“เราคุมงานเองทั้งหมด เซฟคอสทั้งหมด แม้เราไม่เคยทำธุรกิจ แต่เราคิดว่า ประหยัดต้นทุนเอาไว้ก่อน ปลอดภัยที่สุด”


 ส่วนเรื่องงานหน้าร้าน “คุณกิ๊ก” ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในรายละเอียด ตั้งแต่การวัดตัว การถ่ายภาพลักษณะสรีระของลูกค้า ซึ่งบางคนไหล่สูง ไหล่เอียง การวางลายผ้า การเย็บ การรีด เพราะเป็นงานที่ล้วนส่งผลต่อคุณภาพของเสื้อผ้าทั้งหมด และที่สำคัญคือ เรื่องของเวลา เมื่อนัดแล้วต้องเป็นไปตามนัด หรือเมื่อลูกค้าต้องการแก้ไข เธอก็พร้อมให้ลูกค้าแก้ไขได้ตลอด เพื่อให้ได้งานที่ดีที่สุด 
 

“ตอนเราเปิดร้านเราไม่เคยทำมาร์เก็ตติ้ง เปิดแล้วขายเลย มาร์เก็ตติ้งของเรา คือ ตัดไปแล้วสวย ใส่แล้วมีคนถาม ลูกค้าเขาจะแนะนำให้เราเอง มันดีกว่าเราไปโฆษณาเสียอีก ลูกค้าแฮปปี้ เขาก็บอกต่อ แนะนำต่อให้เรา”


นั่นคือ คีย์ซัคเซส ของ “คุณกิ๊ก” สิ่งที่เธอย้ำมากๆ คือ การดูแลลูกค้าให้ดีที่สุด ถ้าลูกค้าตัดออกมาแล้วไม่ดี ขอแก้ 5-6 ครั้ง เธอก็ยินดีที่จะทำให้ตั้งแต่เปิดร้านในปี ค.ศ.2011 ธุรกิจของร้านก็เติบโตมาเรื่อยๆ จนกระทั่งมาเจอวิกฤตการณ์โควิด ที่ทำให้เปิดร้านไม่ได้ และกว่าร้านจะกลับมาเปิดได้ 100% ก็พบว่าพฤติกรรมและ
วิธีการดำเนินชีวิต การทำงานของแต่ละคนเปลี่ยนไป รวมทั้งค่าเช่าสถานที่ร้านก็พุ่งสูงขึ้น จน “คุณกิ๊ก” ต้องคิดหาวิธี เพื่อผลักดันให้ธุรกิจของเธอยังเดินหน้า

‘เดอะคอลล่า’ เล็งปรับตัว รุกตลาดออนไลน์  ปรับร้านสู่มัลติแบรนด์
“คุณกิ๊ก” เล่าว่า เธอมีความคิดที่จะรุกสู่ตลาดออนไลน์เต็มที่ ซึ่งช่วงนี้กำลังเร่งหาคนช่วยทำด้านการตลาดออนไลน์ให้ และอีกช่องทางคือ การปรับร้านเป็นมัลติแบรนด์ มีเสื้อผ้าหรือเครื่องแต่งกายอื่นๆ เข้ามาเสริม ซึ่งคาดว่าจะสามารถเริ่มได้ภายในปีนี้ ทั้งส่วนของออนไลน์ และการทำร้านเป็นมัลติแบรนด์
 

ผู้บริหารหญิงคนนี้บอกว่า เธอมีความมั่นใจว่า ธุรกิจเสื้อเชิ้ต และเสื้อสูทของเธอ สามารถเดินหน้าต่อได้แน่นอน 
 

สิ่งหนึ่งที่ “คุณกิ๊ก” อยากจะฝากไว้กับน้องๆ รุ่นใหม่ ที่คิดอยากทำธุรกิจของตัวเอง โดยเฉพาะคนที่อายุยี่สิบกว่าๆ หากอยากทำอะไรให้รีบๆ ทำเลย เพราะเมื่ออายุขึ้นเลขสาม ทุกอย่างมันลงไปหมด ไม่ว่าจะเป็นพลังที่น้อยลง ไฟในการทำงาน ความกล้าเสี่ยง 
 

ตอนที่เธอเริ่มต้น วันแรกที่ขับรถมาที่ร้าน เธอบอกเลยว่า มีแว่บหนึ่งที่เธอรู้สึกอึ้งๆ ที่ตัวเองจะเปิดร้านตัดเสื้อเชิ้ต เสื้อสูท ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้มีความรู้ด้านนี้ วัดตัวก็ไม่เป็น ตัดผ้าก็ไม่เป็น... แต่มันเป็นแค่เสี้ยวเล็กๆ ที่เรากลัว ซึ่งวันนี้เธอได้พิสูจน์แล้วว่าการทำสิ่งที่ชอบและใช่ ทำให้ประสบความสำเร็จได้

 

หน้า 17 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 43 ฉบับที่ 3,878 วันที่ 13 - 15 เมษายน พ.ศ. 2566