กรณีบริษัท วิน โพรเสส จำกัด มีการลักลอบเก็บของเสียเคมีวัตถุไว้ในพื้นที่ของโรงงานเป็นจำนวนมากต่อเนื่องยาวนานมานับ 10 ปี โดยไม่ได้รับอนุญาต ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2560 คพ. ได้รับเรื่องร้องเรียนปัญหามลพิษจากการประกอบกิจการของบริษัท
ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน จึงได้เข้าตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อมบริเวณภายในโรงงาน และพื้นที่ใกล้เคียงโรงงาน พบว่า บ่อน้ำของโรงงานมีลักษณะเป็นน้ำเสีย โดยมีสภาพเป็นกรดและปนเปื้อนโลหะหนัก และยังตรวจพบการรั่วไหลรั่วซึมจากบ่อน้ำภายในโรงงานออกสู่ภายนอก
ส่งผลให้น้ำผิวดินบริเวณใกล้เคียงโรงงานมีค่าความเป็นกรดสูง และปนเปื้อนโลหะหนัก และยังตรวจพบค่าสารอินทรีย์ระเหยง่ายบริเวณด้านข้างโรงงาน บ่งชี้ว่ามีของเสียจากโรงงานระบายออกสู่ภายนอก ก่อให้เกิดความเสียหายแก่แหล่งน้ำสาธารณะและพื้นที่เกษตรกรรมของประชาชน
นางกัญชลี นาวิกภูมิ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) และโฆษกคพ. เปิดเผยว่า ได้นำปัญหามลพิษกรณีโรงงานของบริษัทดังกล่าว เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2564 มีมติให้ คพ. พิจารณาดำเนินการ ตามมาตรา 96 และ 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535
ในกรณีที่บริษัทฯ ไม่ดำเนินการชดใช้ค่าเสียหายตามที่กฎหมายกำหนด จะต้องฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทฯ คพ. จึงได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานรวบรวมพยานหลักฐานและค่าใช้จ่ายในการเรียกค่าสินไหมทดแทน
โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมวิชาการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมประมง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง และองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร ได้ประเมินค่าเสียหาย ค่าขจัดมลพิษ และการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากการกระทำความผิดของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด
คพ. โดยพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการจังหวัดระยอง ได้ยื่นฟ้องบริษัท วินโพรเสส จำกัด กับพวกรวม 3 คน เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 เพื่อเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นต่อภาครัฐและการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ตามมาตรา 96 และ 97 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 และเมื่อวานนี้ (2 กันยายน 2567) ศาลจังหวัดระยอง ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายแก่ คพ. เป็นค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม พร้อมดอกเบี้ย และค่าทนายความ รวมเป็นเงินจำนวน 1,743,609,923.46 บาท
คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด จำเลยมีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลจังหวัดระยองได้ภายในกำหนด 1 เดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษา หากคดีนี้ไม่มีการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาและคดีถึงที่สุดแล้ว
คพ. จะประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการบังคับคดี เพื่อนำเงินมาใช้ในการดำเนินการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมตามคำพิพากษาของศาลต่อไป นางกัญชลี กล่าว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง