climatecenter

วิกฤติโลกเดือด "ปล่อยคาร์บอนปี 67" ทุบสถิติใหม่สูงสุดในประวัติศาสตร์

    เปิดรายงาน Global Carbon Budget ฉบับล่าสุดในเวที COP29 ชี้ไฟป่าอเมซอน-เชื้อเพลิงฟอสซิลดันตัวเลขพุ่ง เตือนโลกใกล้ทะลุ 1.5 องศา พร้อมจับตาจีน-อินเดียปล่อยก๊าซพุ่ง

คาดการณ์ล่าสุดจากรายงาน Global Carbon Budget ซึ่งเผยแพร่ในเวทีประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP29 ณ ประเทศอาเซอร์ไบจาน เปิดเผยว่า การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกในปี 2567 อาจพุ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีตัวเลขรวมทั้งสิ้น 41.6 พันล้านตัน เทียบกับ 40.6 พันล้านตันในปีก่อนหน้า ซึ่งข้อมูลดังกล่าวได้แสดงถึงการเบี่ยงเบนที่น่าห่วงกังวลจากเป้าหมายในการป้องกันวิกฤติสภาพภูมิอากาศโลก

การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ส่วนใหญ่มาจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล โดยเฉพาะถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 0.8% ในปีนี้ เป็น 37.4 พันล้านตัน และส่วนที่เหลือมาจากการใช้ที่ดิน ซึ่งรวมถึงการทำลายป่าและไฟป่า ที่มีการปล่อยเพิ่มขึ้นถึง 13.5% อันเป็นผลมาจากภัยแล้งรุนแรงในป่าอเมซอน

ผู้เขียนนำของรายงาน ศาสตราจารย์ปีแอร์ ฟรีดลิงสไตน์ (Pierre Friedlingstein) จากมหาวิทยาลัยเอ็กซีเทอร์ในสหราชอาณาจักร กล่าวว่า "เราไม่เห็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจะลดลงในปีนี้ หากยังไม่ลดการปล่อยก๊าซในระดับที่ทันทีและเข้มข้น โลกจะข้ามเกณฑ์อุณหภูมิ 1.5 องศาเซลเซียสไปอย่างไม่สามารถย้อนกลับได้"

ข้อตกลงปารีส ปี 2558 ได้กำหนดเป้าหมายเพื่อยับยั้งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส จากระดับก่อนอุตสาหกรรม แต่หากต้องการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ทุกประเทศจำเป็นต้องลดการปล่อยก๊าซในทุกปีไปจนถึงปี 2573 และต่อเนื่องไปยังอนาคต

อย่างไรก็ตาม การปล่อยก๊าซจากเชื้อเพลิงฟอสซิลกลับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทศวรรษที่ผ่านมา ขณะที่การปล่อยก๊าซจากการใช้ที่ดินลดลงจนถึงปีนี้ที่เกิดวิกฤติไฟป่าในป่าแอมะซอน จากภัยแล้งอันรุนแรง ทำให้การปล่อยก๊าซจากการใช้ที่ดินสูงขึ้นเป็น 4.2 พันล้านตัน

ถึงแม้ว่าข้อมูลการปล่อยก๊าซในปีนี้จะสะท้อนถึงความพยายามของบางประเทศในการขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนและการเพิ่มขึ้นของยานยนต์ไฟฟ้า แต่การพัฒนาเหล่านี้ยังคงไม่เท่าเทียม โดยประเทศอุตสาหกรรมที่พัฒนาแล้วมีการลดลงของการปล่อยก๊าซ ขณะที่เศรษฐกิจเกิดใหม่ยังคงมีการเพิ่มขึ้นของการปล่อยก๊าซ

ในเวทีประชุม COP29 ทาง อิลฮัม อาลิเยฟ ประธานาธิบดีของอาเซอร์ไบจาน ซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุมครั้งนี้ได้วิพากษ์วิจารณ์ชาติชั้นนำว่าเป็นการเสแสร้งในการเรียกร้องการลดใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล แต่ยังคงเป็นผู้ใช้และผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลรายใหญ่ที่สุดของโลก

ในปีนี้ การปล่อยก๊าซในสหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นผู้ผลิตและผู้บริโภคน้ำมันและก๊าซรายใหญ่ที่สุดของโลก คาดว่าจะลดลง 0.6% ขณะที่สหภาพยุโรปลดลงถึง 3.8% ในขณะที่อินเดียมีการปล่อยเพิ่มขึ้นถึง 4.6% เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นตามการเติบโตของเศรษฐกิจ

ในขณะเดียวกัน การปล่อยก๊าซของจีนที่เป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซมากที่สุดในโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.2% โดยนักวิจัยชี้ว่าการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในตลาดจีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้การปล่อยก๊าซจากการใช้น้ำมันลดลง นอกจากนี้ การปล่อยก๊าซจากการบินและการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศยังคาดว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 7.8% จากการฟื้นตัวของการเดินทางทางอากาศหลังช่วงวิกฤติโควิด-19