ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในงานสัมมนา The Annual Petroleum Outlook Forum ว่า สถานการณ์พลังงานของโลกในปัจจุบัน ได้รับอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน รวมถึงกฎระเบียบ นโยบายต่าง ๆ ของภาครัฐ ส่งผลให้ทั่วโลกและประเทศไทยต้องหันมาให้ความสำคัญ และตระหนักในเรื่องของพลังงานสะอาดอย่างจริงจัง รวมทั้งกลุ่มธุรกิจพลังงานและธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องต่างต้องมีการปรับตัว
และร่วมกันขับเคลื่อนพลังงานของประเทศไทยภายใต้ความร่วมมือของทุกภาคส่วนให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น
"เจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. คือมุ่งมั่นสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควบคู่กับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศไทยแข็งแรงและเติบโตในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน"
นางรุ่งนภา จันทร์ชูเกียรติ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม กล่าวว่า กลุ่มโรงกลั่นน้ำมันในประเทศไทยได้มีการปรับตัวเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน มีการเตรียมพร้อมในการจัดหาน้ำมันดิบ รองรับสถานการณ์ความผันผวน และความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เพื่อให้มีปริมาณการผลิตเพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ
นอกจากนี้ กลุ่มโรงกลั่นได้เร่งการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคพลังงานสะอาด โดยพัฒนาเชื้อเพลิงทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น น้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลมาตรฐานยูโร 5 ที่มีค่ากำมะถันต่ำ น้ำมันเชื้อเพลิงอากาศยานที่ยั่งยืน (Sustainable Aviation Fuel : SAF) เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย
ทีมนักวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมัน กลุ่ม ปตท. (PRISM Experts) กล่าวถึงความต้องการใช้น้ำมันในปี 68 ว่ายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีน
แต่ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของสงครามการค้าจากนโยบายของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาท่านใหม่ ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกได้ ในส่วนของอุปทานน้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน เนื่องจากการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่ม Non-OPEC+ ที่ปรับเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา แคนาดา บราซิล และกายอานา และกลุ่ม OPEC+ มีแผนจะทยอยเพิ่มกำลังการผลิต
ขณะเดียวกันท่ามกลางความไม่แน่นอนของความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ ความต้องการใช้น้ำมันของสหรัฐอเมริกาหลังการเลือกตั้ง รวมไปถึงมาตรการการคว่ำบาตรของสหรัฐอเมริกาต่ออิหร่านที่เข้มข้นขึ้น ทำให้คาดการณ์ว่าราคาน้ำมันดิบในปี 68 ยังคงมีความผันผวนและเคลื่อนไหวในกรอบ 70 - 80 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ข่าวที่เกี่ยวข้อง