climatecenter

“แบล็ค แอนด์ วิชช์” ชี้เทคโนโลยีบุกเบิกอนาคตพลังงานสะอาด เปลี่ยนโลกยั่งยืน

    “แบล็ค แอนด์ วิชช์” ชี้เทคโนโลยีบุกเบิกอนาคตพลังงานสะอาด พร้อมแนะแนวทางการจัดการความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานโลก

วันนี้ (4 ธันวาคม 2567) "นายเจอริน ราช" ผู้อำนวยการประจำเอเชียใต้และตะวันออกเฉียงใต้ และไต้หวัน บริษัท Black & Veatch จำกัด ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อ Green Energy Transition ในงาน Sustainability Forum 2025: Synergizing for Driving Business ที่จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ ณ พารากอน ฮอลล์ ชั้น 5 สยามพารากอน โดยเน้นย้ำว่า "เทคโนโลยีคือหัวใจสำคัญของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน" แต่ต้องยอมรับว่าเพียงเทคโนโลยีอย่างเดียวไม่เพียงพอที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน "เทคโนโลยีต้องอยู่ในบริบทที่เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องมีเสถียรภาพ ปลอดภัย และสามารถใช้งานได้จริง"

ปัจจัยอื่นๆ เช่น นโยบาย กฎระเบียบ เศรษฐกิจ และการบริหารโครงการ ล้วนมีความสำคัญเทียบเท่ากัน "การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องใช้วิธีแบบองค์รวม หากหนึ่งในปัจจัยเหล่านี้ล้มเหลว เทคโนโลยีที่เลือกใช้ก็จะล้มเหลวเช่นกัน"

 

ความสำคัญของระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (TRL)

การวัดระดับความพร้อมทางเทคโนโลยี (TRL) เป็นเครื่องมือสำคัญสำหรับการประเมินเทคโนโลยีในแง่ของความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้ธุรกิจและองค์กรตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูล "การเร่งการใช้เทคโนโลยี เช่น การเปลี่ยนจากถ่านหินไปใช้พลังงานก๊าซธรรมชาติในช่วงเปลี่ยนผ่าน และการใช้พลังงานแสงอาทิตย์และลมที่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ควรเป็นเป้าหมายสำคัญของภูมิภาคอาเซียน"

 

อย่างไรก็ตาม นายเจอรินเปรียบเทียบว่า อาเซียนยังตามหลังประเทศอื่นๆ อย่างมาก เช่น อินเดียที่สามารถติดตั้งพลังงานหมุนเวียนได้ถึง 150 กิกะวัตต์ในหนึ่งปี ในขณะที่ประเทศไทยตั้งเป้าเพียง 15 กิกะวัตต์ใน 10 ปีข้างหน้า

การจัดการกริดพลังงาน

การจัดการโครงข่ายกริดพลังงานเป็นอีกหนึ่งองค์ประกอบที่สำคัญ "กริดที่มีการกระจายตัวและมีความยืดหยุ่นจะช่วยแก้ไขปัญหาเรื่องการเก็บพลังงานและการบริหารความต้องการพลังงานได้ดียิ่งขึ้น" พร้อมเสริมว่าไมโครกริด (Microgrid) จะช่วยให้การผลิตและบริโภคพลังงานในระดับท้องถิ่นมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

เทคโนโลยีพลังงานใหม่และพลังงานไฮโดรเจน

ในเรื่องของเทคโนโลยีพลังงานใหม่ไฮโดรเจน แอมโมเนีย และการดักจับคาร์บอน (CCUS) เป็นแนวทางที่น่าสนใจสำหรับภูมิภาคนี้ แต่ปัญหายังอยู่ที่ความไม่ชัดเจนในนโยบายและกรอบกฎหมาย "ต้นทุนพลังงานจากไฮโดรเจนสีเขียวยังสูงมากเมื่อเทียบกับถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เราอาจต้องเริ่มต้นจากไฮโดรเจนสีฟ้าก่อน เพื่อเรียนรู้และปรับตัว"

เจอริน ราชยังชี้ว่า สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทยมีความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในด้านนี้ เช่น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกำลังทดลองใช้ไฮโดรเจนในโรงไฟฟ้า ส่วนมาเลเซียกำลังพัฒนาเทคโนโลยีการแปลงไฮโดรเจนเป็นแอมโมเนียเพื่อส่งออก

“แบล็ค แอนด์ วิชช์” ชี้เทคโนโลยีบุกเบิกอนาคตพลังงานสะอาด เปลี่ยนโลกยั่งยืน

อนาคตของพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR)

พลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) อาจเป็นคำตอบของความต้องการพลังงานในอนาคต "โครงการนิวเคลียร์ขนาดเล็ก เช่น SMR ที่มีกำลังผลิต 30-120 เมกะวัตต์ มีความสามารถในการจัดการได้ง่ายกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดใหญ่ และช่วยลดปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพลังงานหมุนเวียน เช่น การจัดการแผงโซลาร์เมื่อหมดอายุ"

 

แนวทางแบบองค์รวมสำหรับอนาคตพลังงานสะอาด

นายเจอริน ปิดท้ายด้วยการเน้นย้ำถึงความจำเป็นในการวางแผนแบบองค์รวม ที่รวมเอาเทคโนโลยี นโยบาย และการสนับสนุนจากทุกภาคส่วนเข้าด้วยกัน เพื่อเร่งการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและบรรลุเป้าหมาย Net Zero ของโลก