environment

'เต่ามะเฟือง' สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ รังสุดท้ายของฤดูกาล ลูกเต่าลงทะเล 64 ตัว

    'เต่ามะเฟือง' เป็นสัตว์ทะเลหาหายากและเสี่ยงสูญพันธุ์ หลุมฟักรังสุดท้ายของฤดูกาลออกลูกและลงกลับไปใช้ชีวิตในทะเล 64 ตัว อัตรการรอด 80% สาเหตุจากอุณหภูมิสูงขึ้น เพราะโลกร้อนขึ้น ทำให้เต่าฟักเป็นเพศเมียมากกว่าเพศผู้ ทำให้สัดส่วนของไข่ไม่มีเชื้อสูงขึ้น

 

เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง จ.พังงา ร่วมกับศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ 2 จ.ภูเก็ต ติดตามการฟักของเต่ามะเฟือง รังที่ 7 เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2567 พบลูกเต่าเดินขึ้นจากหลุมจำนวน 30 ตัว จึงปล่อยลูกเต่าทั้งหมดลงทะเล ต่อมาช่วงใกล้รุ่งพบลูกเต่าขึ้นจากหลุมอีก 22 ตัว รวมลูกเต่าจากรังดังกล่าวที่เป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ลงทะเลทั้งหมด 64 ตัว 
 

จำนวนไข่ทั้งหมดของแม่เต่ามะเฟืองรังนี้มีทั้งหมด 131 ฟอง ในจำนวนนี้พบไข่ไม่ได้รับการผสม 18 ฟอง และตายโคม 6 ตัว หยุดพัฒนา 6 ฟอง ตายแรกเกิด 4 ตัว ไข่ลม 33 ฟอง (เป็นรังที่ปล่อยให้มีการฟักตามธรรมชาติไม่ย้ายรัง) 

 

แม่เต่ามะเฟือง

ทั้งนี้ คิดเป็นอัตราการรอดจากหลุมเพาะฟัก 80% อัตราการฟัก 94.12% รวมระยะเวลาในการเพาะฟัก 54 วัน รังนี้นับเป็นไข่เต่ามะเฟืองรังสุดท้ายของฤดูกาลปี 2566 

 

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2567 ลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักไข่อยู่ที่หาดบ่อดาน จ.พังงา ลืมตาดูโลกลงทะเลได้ทั้งหมด 13 ตัว ไข่ไม่ได้รับการผสม 44 ฟอง ไข่หยุดพัฒนา 22 ฟอง ตายโคม 8 ฟอง ลูกเต่าตายในหลุม 6 ตัว และคาดว่ามีลูกเต่า 6 ตัว ฟักและคลานลงทะเลก่อนแล้ว

 

\'เต่ามะเฟือง\' สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ รังสุดท้ายของฤดูกาล ลูกเต่าลงทะเล 64 ตัว \'เต่ามะเฟือง\' สัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ รังสุดท้ายของฤดูกาล ลูกเต่าลงทะเล 64 ตัว

 

สรุปมีอัตราการฟัก 60% อัตราการรอดตาย 34.54% สำหรับไข่เต่ามะเฟืองรังนี้แม่เต่าขึ้นวางไข่เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2567 จำนวนไข่ 99 ฟอง 

 

สถานการณ์การวางไข่ของเต่ามะเฟืองในปี 2567 เมื่อวันที่ 2 มกราคม เจ้าหน้าที่พบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดท้ายเหมือง เป็นรังที่ 5 ของอุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง (รังที่ 6 ของฤดูกาล) พบไข่ทั้งหมด 120 ฟอง เป็นไข่สมบูรณ์ 78 ฟอง ไข่ลม 42 ฟอง และได้ย้ายไข่เต่ามะเฟืองไปเพาะฟักยังศูนย์บริการนักท่องเที่ยว 

 

เมื่อวันที่ 6 มกราคม เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมือง พบเป็นไข่ดี 67 ฟอง ไข่ลม 53 ฟอง ไข่แตก 1 ฟอง ,วันที่ 11 มกราคม เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่หาดท้ายเหมือง หมู่ที่ 9 นับไข่ได้120 ฟอง ไข่ดี 66 ฟอง ไข่ลม 53 ฟอง ไข่แตก 1 ฟอง วันที่ 30 มกราคม ชาวบ้านพบแม่เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณชายหาดท่าไทร พบตำแหน่งวางไข่พ้นระดับน้ำทะเลท่วมถึง จึงกลบหลุมและทำคอกชั่วคราวป้องกันไว้

 

วันที่ 11 มกราคม เต่ามะเฟืองขึ้นมาวางไข่บริเวณหาดท้ายเหมือง นับไข่ได้ 120 ฟอง ไข่ดี 66 ฟอง ไข่ลม 53 ฟอง ไข่แตก 1 ฟอง โดยนำไข่ทั้งหมดไปเก็บไว้ที่ศูนย์เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์เต่ามะเฟือง หาดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา 

 

วันที่ 19 มกราคม พบเต่ามะเฟืองวางไข่บริเวณชายหาดบ่อดาน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา พบไข่ 120 ฟอง ไข่ดี 63 ฟอง ไข่ลม 57 ฟอง, วันที่ 30 มกราคม เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณหาดท่าไทร ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา โดยเจ้าหน้าที่ได้กลบหลุมและจัดทำคอกชั่วคราวป้องกันไว้

 

และวันที่ 11 กุมภาพันธ์ เต่ามะเฟืองขึ้นวางไข่บริเวณชายหาดบ่อดาน ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง จ.พังงา  มีความเสี่ยงน้ำทะเลท่วมถึง เจ้าหน้าที่จึงย้ายหลุมฟักไปยังที่ปลอดภัย พบไข่ 125 ฟอง ไข่ดี 99 ฟอง ไข่ลม 25 ฟอง 

 

ทำไม? เต่ามะเฟือง (Leatherback sea turtle, Dermochelys coriacea) จึงมีความสำคัญต่อระบบนิเวศ ข้อมูลกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ระบุว่า เต่ามะเฟืองเป็นเต่าทะเลที่ใหญ่ที่สุดในโลก เป็นสัตว์ทะเลหายากและเป็นสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ที่ได้รับความสำคัญจากนานาประเทศ เนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นระยะไกล จึงมีแหล่งอาศัยในพื้นที่ทางทะเลระหว่างประเทศ จัดเป็นทรัพยากรร่วมของภูมิภาคและระดับโลก

 

เต่ามะเฟืองเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์สูงสุด เมื่อเปรียบเทียบกับเต่าทะเลที่มีอยู่ 7 ชนิดทั่วโลก จำนวนประชากรพ่อแม่พันธุ์เต่ามะเฟืองที่มาผสมพันธุ์และวางไข่ในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องเหลือเพียงปีละไม่ถึง 10 ตัว ล่าสุดพบว่า หลังจากแม่เต่าขึ้นมาวางไข่ไว้ เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567 ณ บริเวณหาดไม้ขาว อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ไข่ไม่ได้รับการผสมทำให้ไม่มีลูกเต่าเกิดแม้แต่ตัวเดียว ​

 

ผศ. ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า สาเหตุมาจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้น โลกร้อนขึ้น ทรายร้อนขึ้น ซึ่งจะทำให้เต่ามะเฟืองเกือบทั้งหมดฟักเป็นเพศเมีย เหลือตัวผู้น้อย ยิ่งเวลาผ่านไป โลกร้อนขึ้น ตัวผู้ยิ่งน้อยลงและแม่เต่าบางตัวเจอตัวผู้ผสมพันธุ์เพียงไม่มาก ทำให้สัดส่วนของไข่ไม่มีเชื้อสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมามีความพยายามในการทบทวนแนวทางการอนุรักษ์เต่ามะเฟือง เพื่อเพิ่มความเข้มข้นในการคุ้มครองเต่าทะเลที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลก เนื่องจากเต่ามะเฟืองถูกจัดสถานภาพให้มีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ (Vulnerable : VU) โดย IUCN และถูกบรรจุเป็นสัตว์ป่าสงวนของไทยตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562

 

ลักษณะของเต่ามะเฟืองมีขนาดยาว 210 เซนติเมตร หนัก 900 กิโลกรัม กระดองเป็นหนังหนาสีดำมีจุดประสีขาว มีร่องสันนูนตามยาว 7 สัน อาศัยอยู่ในทะเลเปิด กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลัก ในไทยพบวางไข่เฉพาะบริเวณชายหาดฝั่งตะวันตกของ จ.พังงา และภูเก็ต เต่ามะเฟืองออกลูกเป็นไข่ แม่เต่ามะเฟืองจะขุดหลุมฝังไข่บริเวณชายหาดอันเงียบสงบที่น้ำทะเลท่วมไม่ถึง 

 

จากนั้นจึงคลานลงสู่ทะเล ปล่อยให้ลูกเต่ามะเฟืองฟักออกมาเป็นตัวเพียงลำพัง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน ในระหว่างนี้อุณหภูมิจะเป็นตัวแปรที่สำคัญต่ออัตราการฟัก ระยะเวลาที่ใช้ฟัก และที่สำคัญเป็นตัวกำหนดเพศของลูกเต่า

 

โดยทั่วไปสัดส่วนของลูกเต่าเพศเมียจะมีมากขึ้นเมื่ออุณหภูมิในหลุมฟักไข่สูงขึ้น ลูกเต่ามะเฟืองที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเล ลูกเต่าแรกเกิดยังคงมีถุงไข่แดงจำนวนหนึ่งอยู่บริเวณท้อง

 

ลูกเต่าจะใช้ไข่แดงที่เหลืออยู่นี้เป็นแหล่งพลังงานในการว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่เท่านั้น

 

อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ผ่านมาเต่ามะเฟืองได้รับอันตรายมากขึ้นและเสียชีวิตจำนวนมาก เนื่องจากระหว่างการเดินทางมาวางไข่และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

 

นอกจากนั้น ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล เช่น จากแสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่ามะเฟืองหรือเต่าทะเลก็ตามถือเป็นการรบกวนการพักผ่อน และหากินของมันด้วย

 

การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟืองก็เป็นอีกประเด็น เช่น ในเชิงปริมาณมาจากการก่อสร้างสิ่งรุกล้ำลงไปในทะเล หรือในเชิงคุณภาพ เช่น มีกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ ความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด ซึ่งการพัฒนาบนฝั่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชายหาดที่เต่าทะเลจะเลือกขึ้นมาวางไข่
 

ที่สำคัญอีกสาเหตุคือ ขยะทะเลซึ่งมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก เนื่องจากการเพิ่มของประชากรและความไร้สำนึกในการทิ้งขยะ โดยที่ผ่านมาผลการผ่าชันสูตรซากเต่าทะเลที่เกยตื้นเสียชีวิตบางตัวพบขยะพลาสติกจำนวนมากในระบบทางเดินอาหารซึ่งเป็นสาเหตุของการตาย โดยเต่ามะเฟืองที่กินแมงกะพรุนเป็นอาหารหลักแยกไม่ออกว่าเศษถุงพลาสติกใสๆ นั้นไม่ใช่อาหารของมัน

 

การหลงผิดกินขยะทะเลไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับเต่าทะเล แต่เกิดกับสัตว์แทบทุกชนิดและเป็นสาเหตุการเกยตื้นในสัตว์ทะเลหายากและสัตว์เสี่ยงสูญพันธุ์ชนิดอื่นๆ ทั้งจากการกินโดยไม่ตั้งใจ หรือการกินโดยตั้งใจเนื่องจากคิดว่าเป็นอาหาร ปัญหาขยะที่พบได้บ่อยมาก คือ เชือก เศษอวน จากการทำประมง

 

คำถามตามมาก็คือเมื่อเต่ามะเฟืองอยู่ในสถานะวิกฤต ทำไมไม่เพาะพันธุ์ ศศิน เฉลิมลาภ อดีตประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ให้ความเห็นในเรื่องนี้ไว้ว่า องค์ความรู้ของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งค่อนข้างชัดว่า ไม่สามารถเพาะพันธุ์เต่ามะเฟืองได้ เพราะมันจะไปชนขอบสระจนทำให้ติดเชื้อและตายหมด เต่ามะเฟืองต้องอยู่ในที่เปิดอย่างในทะเล วิธีที่จะดูแลเต่ามะเฟืองได้ดีที่สุดคือดูแลหลุมวางไข่ให้ดีๆ 
 

อ้างอิง : อุทยานแห่งชาติเขาลำปี-หาดท้ายเหมือง, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, มูลนิธิสืบนาคะเสถียร