environment

ย้อนรอยมรดกหายนะจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 175 ล้านตัน

    สงครามรัสเซีย-ยูเครนปล่อยก๊าซเรือนกระจก 175 ล้านตัน เทียบเท่ามลพิษจากรถยนต์ 90 ล้านคันทั่วโลก ตีเป็นมูลค่าความเสียหายสูง 32 พันล้านดอลลาร์

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้สร้างความหายนะด้านมนุษยชาติและสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่ ตามรายงานล่าสุดจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมของยูเครนและนักวิจัยด้านสภาพอากาศ ได้ประเมินว่าการรุกรานดังกล่าวเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ในปี 2020 ที่ผ่านมา ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศถึง 175 ล้านตัน

 

ปริมาณมหาศาลนี้เทียบเท่ากับการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ 90 ล้านคันทั่วโลกในหนึ่งปี มูลค่าความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศหลังสงครามที่กินเวลายาวนาน 24 เดือนถูกประเมินสูงถึง 32 พันล้านดอลลาร์ เมื่อใช้มาตรการต้นทุนทางสังคมของคาร์บอน

 

การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากสงครามนี้สามารถแบ่งได้สามส่วน โดยหนึ่งในนั้นเกิดจากกิจกรรมทางทหารโดยตรง ส่วนที่สองมาจากการใช้เหล็กและคอนกรีตสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ทดแทนที่ถูกทำลาย ขณะที่ส่วนสุดท้ายรวมปัจจัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ป่า และการเคลื่อนย้ายประชากร

 

รายงานชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนว่าในช่วงแรกของสงคราม การปล่อยก๊าซส่วนใหญ่เกิดจากการทำลายโครงสร้างพื้นฐานพลเรือน แต่หลังจากนั้นเป็นเวลายาวนานกว่าสองปี ส่วนแบ่งการปล่อยก๊าซมากที่สุดมาจากกิจกรรมสงคราม ไฟไหม้ภูมิทัศน์ และความเสียหายต่อสาธารณูปโภคพลังงาน

 

กิจกรรมทางทหารมีส่วนทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 51.6 ล้านตัน มีการใช้เชื้อเพลิงของรัสเซียถึง 35.2 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และของกองทัพยูเครนอีก 9.4 ล้านตัน ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลว่ากองทัพทั่วโลกมีส่วนคิดเป็น 5.5% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโลกตามการประมาณการในปี 2022

 

นอกจากนี้ ยังมีการประเมินพื้นที่ถูกไฟไหม้กว่า 1 ล้านเฮกตาร์หรือราว 6,250,000 ไร่ จากไฟ 27,000 ครั้งที่เกิดจากสงคราม คิดเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเทียบเท่า 23 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ขณะที่การบินพลเรือนก็ได้รับผลกระทบจากการปิดน่านฟ้าบางส่วน ทำให้เที่ยวบินต้องเพิ่มระยะทางและปล่อยก๊าซเพิ่มขึ้น 24 ล้านตัน

 

สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนได้สร้างหายนะหลายด้านทั้งมนุษย์ สิ่งก่อสร้าง และสิ่งแวดล้อม การปล่อยก๊าซเรือนกระจกมหาศาลถือเป็นภาระอีกชั้นหนึ่งสำหรับโลกที่กำลังเผชิญกับวิกฤติภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องใช้เวลาและทรัพยากรจำนวนมากในการฟื้นฟูกู้คืนสภาพให้กลับมาเป็นดังเดิม

 

อ้างอิง: