ปัจจุบันในเดือนมิถุนายน และเดือนกรกฏาคมนี้ เรากำลังเข้าสู่สภาวะความเป็นกลาง ก่อนที่จะเริ่มต้นปรากฎการณ์ลานีญา ที่เราจะเจอปริมาณฝนมากกว่าปกติ ในช่วงเดือนสิงหาคม และจะไต่ระดับความรุนแรงขึ้น ทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน โดยเฉพาะในกรุงเทพ ที่คนกรุงเทพฯ มักจะคุ้นชินกับคำว่า น้ำท่วมรอการระบาย
เนื่องจากพื้นที่ในเมือง เต็มไปด้วยถนนและอาคาร ที่ตั้งกันอยู่อย่างหนาแน่น โดยในเวลาที่ฝนตกหนักลงมา น้ำทิ้งจากบนหลังคาดาดฟ้าอาคาร หรือน้ำจากบนถนนคอนกรีต ต่างพากันไหลลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะในปริมาณที่มากเกินความสามารถของท่อระบายน้ำสาธารณะจะรับปริมาณน้ำฝนจำนวนมากได้
ประกอบกับ ลักษณะภูมิศาสตร์ที่เป็นแอ่งของกรุงเทพมหานคร ดังนั้นลำพังเพียงแค่จะอาศัยท่อระบายน้ำกับอุโมงค์ยักษ์ระบายน้ำ ที่รับน้ำจากคูคลองต่าง ๆ ในเมือง กลับเต็มไปด้วยขยะอุดตัน ขวางทางน้ำ ถึงแม้จะมีการระดมสรรพกำลังของเครื่องสูบน้ำ ก็ยังคงไม่เพียงพอ จึงเป็นปมเหตุน้ำท่วมรอการระบายกันซ้ำแล้วซ้ำเล่าทุกปี
ดังนั้น การที่จะทำให้กรุงเทพฯ มีความสามารถในการรองรับน้ำได้ด้วยตัวเองมากขึ้น โดยเปรียบเสมือนฟองน้ำที่สามารถดูดซึมน้ำได้ ด้วยการเพิ่มพื้นที่พักน้ำ หรือหน่วงน้ำมากขึ้น โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่สีเขียวซึ่งก็คือ พื้นที่สวนที่สามารถช่วยดูดซึมน้ำลงดินและช่วยรองรับน้ำได้ดี
ปัจจุบันเทรนด์การออกแบบอาคารและพื้นที่สีเขียวของโครงการใหม่ ๆ ในกรุงเทพฯ จะให้ความสำคัญกับสภาพแวดล้อมโดยรอบ การเพิ่มพื้นที่สีเขียว และการอนุรักษ์ระบบนิเวศในโครงการมากขึ้น รวมถึงการออกแบบการบริหารจัดการน้ำในโครงการ ไม่ว่าจะเป็นระบบบำบัดน้ำเสีย หรือการกำหนดพื้นที่บ่อหน่วงน้ำของอาคาร
และรู้ไหมครับว่า หากโครงการหรือตึก ๆ หนึ่ง มีพื้นที่หน่วงน้ำขนาด 50-100 ลบ.ม. และในกรุงเทพฯ เองก็มีตึกอยู่หลายพันตึก จะสามารถหน่วงน้ำได้ถึง 100,000 ลบ.ม. ซึ่งเป็นปริมาณที่สามารถลดปัญหาน้ำท่วมรอการระบายได้อย่างแน่นอน โดยเฉพาะการออกแบบให้พื้นที่รับน้ำฝนโดยตรงของตึก ซึ่งก็คือหลังคาก็จะสามารถช่วยรองรับน้ำ, กักเก็บ และช่วยหน่วงน้ำฝนที่จะระบายทิ้งลงสู่ท่อระบายน้ำสาธารณะได้ ซึ่งทางต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศแถบยุโรป เช่น เยอรมนี อังกฤษ หรือทางฝั่งสหรัฐอเมริกา รวมถึงสิงค์โปร์ เพื่อนบ้านเรา ที่ภาครัฐในแต่ละประเทศได้มีการบังคับ สนับสนุนและผลักดันให้งานก่อสร้างอาคารใหม่ ต้องทำระบบหลังคาฟ้า/เขียว หรือ Blue/Green Roof
ทั้งนี้ ภาครัฐจะช่วยสนับสนุนค่าใช้จ่ายสูงสุดถึง 60% และให้ FAR Bonus ถึง 2 เท่า สำหรับการใช้หลังคาเป็นพื้นที่รับน้ำฝน และน้ำที่กักเก็บไว้บนหลังคา จะทำหน้าที่เป็นฉนวนกันเสียงและกันความร้อน ช่วยลดอุณหภูมิให้กับอาคารได้อย่างดีมาก และยังช่วยกรองน้ำฝนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น สามารถหมุนเวียนนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีกด้วย
กรุงเทพฯ เมืองฟองน้ำ ซึ่งเป็นแนวคิดในการพัฒนาและเพิ่มโครงสร้างสีฟ้าและโครงสร้างสีเขียวให้กับเมือง เพื่อเป็นแนวคิดหลักให้คนกรุง สามารถอยู่ร่วมกับน้ำได้อย่างเป็นมิตร นอกเหนือจากการช่วยลดปัญหาน้ำท่วมรอการระบายภายในเมืองได้แล้ว ยังเป็นการช่วยลดอุณหภูมิของเมือง และช่วยคืนระบบนิเวศน์ให้กับเมือง ส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้คนกรุงฯอีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง