แผนบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567- 2580 (Oil Plan 2024) ถือเป็นอีกหนึ่งเสาหลักภายใต้แผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งร่างแผนดังกล่าวจะปิดรับฟังในวันที่ 12 กรกฎาคม 2567 นี้ ก่อนจะรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะทั้งหมด นำไปประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป
นายสราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน เปิดเผยว่า (ร่าง) แผนบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567-2580 (Oil Plan 2024) ไประเมินถึงถึงทิศทางความต้องการใช้นํ้ามันเชื้อเพลิงโลก มีแนวโน้มลดลง ในระยะเวลาไม่เกิน 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้นํ้ามันสูงสุด (Oil Peak demand) ของประเทศไม่เกินปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) อยู่ที่ประมาณ 148 ล้านลิตรต่อวัน จากปี 2566 ประเทศมีกำลังผลิตอยูที่ 197 ล้านลิตรต่อวัน โดยเมื่อถึงปี 2573 ประเทศจะมีประเทศไทยจะมีกำลังการผลิตส่วนเกินอยู่ที่ 69 ล้านลิตรต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การใช้นํ้ามันยังคงถือเป็นเชื้อเพลิงหลัก แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality) ในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิ์เป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี 2608 และเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี ที่มาแรง จะส่งผลให้ปริมาณการใช้นํ้ามันในภาคขนส่งมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง
ดังนั้น การก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานด้วยความมั่นคง และยกระดับธุรกิจพลังงาน และสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ การบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิงภายใต้ร่างแผน Oil Plan 2024 จึงมีความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น 1.ด้านการบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงที่จะต้องวางแผนทบทวนรูปแบบ และอัตราการสำรองนํ้ามันเชื้อเพลิงให้มีความเหมาะสม รวมถึงจัดหานํ้ามันเชื้อเพลิงให้เพียงพอต่อความต้องการและเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับภาวะวิกฤตด้านนํ้ามันเชื้อเพลิงของประเทศ
2.การบริหารจัดการนํ้ามันเชื้อเพลิงในภาคขนส่ง ให้สอดคล้องกับความต้องการใช้มีแนวโน้มลดลง บนเงื่อนไขที่กองทุนนํ้ามันเชื้อเพลิง จะไม่สามารถอุดหนุนราคาได้ในอนาคต แต่จะพิจารณาใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อลดภาระของประชาชน อาทิ Target subsidy เป็นต้น
ทั้งนี้ จะกำหนดแนวทางดำเนินการ ได้แก่ ภาคขนส่งทางบก จะปรับลดชนิดนํ้ามันกลุ่มดีเซลให้ บี 7 เป็นนํ้ามันดีเซลพื้นฐาน และบี 20 ให้เป็นนํ้ามันดีเซลทางเลือก พร้อมทั้งปรับสัดส่วนการผสมบี 100 ให้เหมาะสมระหว่าง 5-9.9%
อีกทั้ง สนับสนุนการเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรืออีวี และส่งเสริมให้มีการนำก๊าซไฮโดรเจน มาใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับรถบรรทุกขนาดใหญ่โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2578-2580
ขณะที่กลุ่มนํ้ามันเบนซิน จะกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ 95 หรือ แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นนํ้ามันพื้นฐานของประเทศต่อไป โดยจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ออกไปภายในปี 2568 โดยจะส่งเสริมการนำเอทานอลไปใช้ประโยชน์ในภาคอุตสาหกรรมและการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืน(Sustainable Aviation Fuel: SAF)
ภาคขนส่งทางอากาศ จะส่งเสริมการผลิตและการใช้ SAF เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคการบิน มุ่งใช้ศักยภาพวัตถุดิบจากในประเทศ เช่น นํ้ามันปรุงอาหารใช้แล้ว (used cooking oil : UCO) นํ้ามันปาล์มดิบ โดยจะส่งเสริมการใช้เทคโนโลยี Hydroprocessed Esters and Fatty Acids หรือ HEFA ผสมในนํ้ามันเครื่องบินสัดส่วน 1% ตั้งแต่ปี 2569 เป็นต้นไป และเพิ่มเป็น 2% ในปี 2571 และหลังจากนั้น ปี 2573 จะได้ SAF จากเทคโนโลยี Alcohol to Jet หรือ AtJ ที่ผลิตจากเอทานอลมาเสริม ซึ่งจะช่วยให้สัดส่วนการผสม SAF ขึ้นที่สัดส่วน 3 % และจะเพิ่มเป็น 8 % ในปี 2579 เป็นต้นไป
ส่วนภาคขนส่งทางนํ้า จะส่งเสริมการผลิตและจำหน่ายเชื้อเพลิงทดแทนสำหรับเรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ อาทิ นํ้ามันเตากำมะถันตํ่าที่มีส่วนผสมของเชื้อเพลิงชีวภาพ (B24 VLSFO) โดยผู้ค้านํ้ามันเชื้อเพลิงของไทยมีแผนจะเริ่มจำหน่าย Bio-VLSFO ในสัดส่วน 24 % (B24) ให้แก่เรือขนส่งสินค้าระหว่างประเทศภายในปี 2568 เป็นต้นไป
3.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านการผลิตและขนส่งนํ้ามันเชื้อเพลิง โดยจะผลักดัน การขนส่งนํ้ามันทางท่ออย่างเต็มประสิทธิภาพ เช่น การเชื่อนโยงเส้นทางท่อของผู้ประกอบการต่างราย การจัดตั้งหน่วยงานกลาง (Single: Operator) ขึ้นมากำกับดูแล พร้อมทั้งศึกษาการขยายเส้นทางการขนส่งนํ้ามันทางท่อ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มศักยภาพการส่งออกนํ้ามันไปยังประเทศเพื่อนบ้าน และศึกษาแนวทางการปรับปรุงค่าขนส่ง ให้ราคานํ้ามันเท่ากันทั่วทุกภูมิภาค เนื่องจากการขนส่งทางท่อช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 82% เมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถยนต์ โดยตั้งเป้าหมายไว้ว่าเมื่อถึงปี 2580 การขนส่งนํ้ามันทางท่อจะมีสัดส่วน 55% เมื่อเทียบกับการขนส่งนํ้ามันทั้งหมดจากโรงกลั่น จากปี 2565 มีสัดส่วนราว 36 %
4.การส่งเสริมธุรกิจใหม่ในอนาคต เพื่อส่งเสริมการผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานนํ้ามันเชื้อเพลิงให้สามารถปรับตัวจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ กรมธุรกิจพลังงานได้จัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบายส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจใหม่สำหรับขับเคลื่อนในระดับนโยบายประเทศ ประกอบด้วย ธุรกิจปิโตรเคมีพลาสติกชีวภาพ เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ดีเซลชีวภาพสังเคราะห์ และนํ้ามันหม้อแปลงไฟฟ้าชีวภาพ พร้อมเสนอกลไกการขับเคลื่อนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดการลงทุนอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2570
ทั้งนี้ เมื่อสรุปผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการตาม (ร่าง) แผน Oil Plan 2024 ฉบับนี้คาดว่าในมิติเศรษฐกิจ จะมีเม็ดเงินลงทุนกว่า 113,000 ล้านบาท สามารถช่วยสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตไบโอดีเซลและเอทานอลกว่า 71,000 ล้านบาทต่อปี และช่วยประหยัดเงินตราต่างประเทศจากการนำเข้านํ้ามันดิบได้ 59,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนทางด้านมิติสังคมนั้น จะช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร 41,500 ล้านบาทต่อปี และในมิติด้านสิ่งแวดล้อม จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 7.1 ล้านตันต่อปี (mtCO2) เทียบเท่าการปลูกป่าโกงกางขนาด 2.6 ล้านไร่ต่อปี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง