ส.อ.ท.ค้านร่าง "Oil Plan 2024" ขัดโมเดลเศรษฐกิจ BCG-Net Zero ของประเทศ

12 ก.ค. 2567 | 08:32 น.
อัปเดตล่าสุด :12 ก.ค. 2567 | 08:32 น.

ส.อ.ท.ค้านร่าง "Oil Plan 2024" ขัดโมเดลเศรษฐกิจ BCG-Net Zero ของประเทศ พร้อมประกาศจุดยืน E20 ต้องเป็นน้ำมันเบนซินพื้นฐานแทน E10 ระบุนโยบายที่ดีต้องสนับสนุนจุดแข็งของประเทศ

จากการที่กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นต่อ (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024) เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2567 ให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมแสดงความคิดเห็น และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อประกอบการปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ต่อไป ซึ่งในภาคขนส่งทางบก ได้มีแนวทางในการปรับลดจากแก๊สโซฮอล์ E20 ลงเหลือแก๊สโซฮอล์ E10 เป็นน้ำมันเบนซินฐานที่ของประเทศ นั้น

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จุดยืน ส.อ.ท. ต่อการส่งเสริมอุตสาหกรรมเอทานอล ตาม (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024) เห็นว่าร่างดังกล่าวขัดแย้งกับแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และการบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศอย่างชัดเจน 

โดยแก๊สโซฮอล์ E20 ต้องเป็นน้ำมันพื้นฐาน แทน E10 มีการบูรณาการทุกภาคส่วนให้เกิดการพัฒนาและลดต้นทุนเอทานอลให้ต่ำลง โดยนโยบายที่ดีต้องสนับสนุนจุดแข็งของประเทศ โดยมีหลักการ 3 ด้าน ประกอบด้วย  

  • สร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 
  • การพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอลด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG  
  • การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero

ส.อ.ท.ค้านร่าง "Oil Plan 2024" ขัดโมเดลเศรษฐกิจ BCG-Net Zero ของประเทศ

ดร. เสกสรรค์ พรหมนิช ประธานคณะทำงานพัฒนาอุตสาหกรรมเอทานอล ส.อ.ท. ให้ความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024) ที่ได้มีการเปิดรับฟังไปว่า ไม่มีความเหมาะสม ทำลายโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตร ลดความสามารถในการแข่งขัน และไม่ตอบสนองต่อเป้าหมายการลดการปลดปล่อยคาร์บอนของประเทศ โดยระบุด้วยว่า

นโยบายเอาง่าย ลอยแพเกษตรกร 

  • จัดทำแบบเร่งรัด ไม่เป็นไปตามเสียงส่วนใหญ่ ขาดการมีส่วนร่วมจากภาคเกษตรกร ภาคการค้า ตัดระบบรายได้ของเกษตรกรมากกว่า 1.2 ล้านครัวเรือน รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ควรต้องส่งเสริมเกษตรกรและอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของประเทศ ซึ่งจะสร้างเสถียรภาพด้านราคาและสร้างรายได้กว่า 170,000 ล้านบาท/ปี กระจายรายได้สู่เกษตรกรผู้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลัง มีกลไกจัดการเพื่อให้ผลประโยชน์อยู่กับเกษตรกรไทยอย่างแท้จริง ส่งเสริมการพัฒนาประสิทธิภาพการเกษตรต้นน้ำ ลดการพึ่งพาสินค้าและพลังงานฟอสซิลจากต่างประเทศ
     

นโยบายที่ทำลายความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ขัดแย้งกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG 

  • ลดความเข้มแข็งและกระทบต่อการจ้างงานของอุตสาหกรรมเอทานอล ตัดโอกาสที่จะพัฒนาต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมมูลค่าสูง เช่น เชื้อเพลิงอากาศยานยั่งยืนและไบโอเอทิลลีน ทำลายโอกาสในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน ควรต้องส่งเสริมแก๊สโซฮอล์ E20 ขยายตลาดเชื้อเพลิงเอทานอล จะทำให้เกิดการสร้างรายได้ประมาณ 41,200 ล้านบาท/ปี บูรณาการภาครัฐและภาคอุตสาหกรรมในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุนวัตถุดิบและราคาเอทานอล เร่งเปิดเสรีเอทานอลบริสุทธิ์สำหรับตลาดในประเทศทดแทนการนำเข้า เพิ่มรายได้และความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างโอกาสในการต่อยอดสู่อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG และ ESG ต่อไป

เป็นนโยบายที่ขัดแย้งกับยุทธศาตร์และเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero ของประเทศ 

  • การถอยหลังกลับไปใช้แค่แก๊สโซฮอล์ E10 เป็นน้ำมันเบนซินฐานที่ของประเทศนั้น จะทำให้มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มมากขึ้นถึง 0.89 ล้านตันต่อปี เทียบเท่ากับพื้นที่ป่าโกงกางที่หายไปมากถึง 3.13 แสนไร่ เสียโอกาสในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้เพิ่มจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และยังเพิ่มมลพิษจากท่อไอเสียรถยนต์จากการถอยหลังกลับไปใช้แก๊สโซฮอล์ E10 ควรต้องเร่งลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันด้วยแก๊สโซฮอล์ E20 จากนั้นพัฒนาเทคโนโลยีและเชื้อเพลิงใหม่ให้ลดการปลดปล่อยได้มากขึ้น และส่งเสริมตลาดสินค้าและพลังงานสะอาดด้วย Carbon tax ที่เหมาะสม