กรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเวทีรับฟังความเห็น (ร่าง) แผนบริหารจัดการน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2567 – 2580 (Oil Plan 2024) ต่อทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปปรับปรุงแผน Oil Plan 2024 ให้สมบูรณ์
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ระบุว่า Oil Plan 2024 เป็นหนึ่งในแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan) โดยแผนพลังงานชาติ ประกอบด้วย 5 แผน คือ
สำหรับสาระสำคัญของร่างแผน Oil Plan 2024 จะมีการปรับลดชนิดน้ำมันที่จำหน่ายในประเทศ โดยในส่วนของน้ำมันดีเซลจะกำหนดให้ไบโอดีเซลB7 เป็นน้ำมันดีเซลฐาน และกำหนดสัดส่วนการผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ระหว่าง 5-9.9% จากปัจจุบันกำหนดสัดส่วนผสมน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ที่ 6.6-7%
นอกจากนี้ให้ดีเซล B20 เป็นน้ำมันทางเลือก และจะสนับสนุนให้รถบรรทุกขนาดใหญ่ไปใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยจะเริ่มเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2578-2580
ขณะที่กลุ่มน้ำมันเบนซินจากปัจจุบันมีจำหน่ายอยู่ 5 ชนิด และอยู่ระหว่างการเลือกกำหนดให้แก๊สโซฮอล์ 95 หรือ แก๊สโซฮอล์ E20 เป็นน้ำมันพื้นฐานของประเทศต่อไป โดยจะยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ออกไปภายในปี 2568 ส่วนแก๊สโซฮอล์ E85 และเบนซิน จะเป็นราคาที่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
อย่างไรก็ดี ยังตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อให้มากขึ้น จากปัจจุบันการขนส่งน้ำมันทางท่อมีสัดส่วนประมาณ 36-39% นอกนั้นเป็นการขนส่งทางบก อย่างไรก็ตามในแผน Oil Plan 2024 จะเพิ่มสัดส่วนการขนส่งน้ำมันทางท่อเป็น 45% ในปี 2570 และเป็น 55% ในปี 2580
โดยจะมุ่งเน้นการสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ในประเทศให้ได้ 90 วัน ตามนโยบายรัฐบาล หรือประมาณ 14,310 ล้านลิตร จากปัจจุบันไทยมีการสำรองน้ำมันดิบ 6% และน้ำมันสำเร็จรูป 1% ของการจำหน่าย หรือเท่ากับเป็นการสำรองน้ำมันรวม 25 วัน แต่ยังมีในส่วนของผู้ผลิตที่สำรองไว้อีก 45-50 วัน ทำให้วันนี้ไทยยังมีการสำรองน้ำมันโดยรวมประมาณ 70-75 วัน แต่เพื่อความมั่นคงพลังงานจะต้องเพิ่มการสำรองเป็น 90 วัน
อย่างไรก็ตามหลังจากรับฟังความเห็นร่างแผน Oil Plan 2024 แล้ว กระทรวงพลังงานจะรวบรวมทั้ง 5 แผนดังกล่าวไว้ในแผนพลังงานชาติ ซึ่งคาดว่าจะจัดทำเสร็จในเดือน ก.ย. 2567 เพื่อเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.), คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบสู่การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
"ช่วง 2 ปีนี้ สถานการณ์การใช้น้ำมันของประเทศไทยจะยังเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนและต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง ทั้งจากการเข้ามาของเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ที่ในปี 2566 มียอดจดทะเบียนรถ EV เพิ่มขึ้นกว่า 1 แสนคัน แม้ว่าปี 2567นี้ ยอดจดทะเบียนจะลดลงบ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาว รถ EV จะเติบโตมากขึ้น
อีกทั้ง ยังมีปัจจัยเรื่องของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ที่มีสถานะติดลบกว่า 1.1 แสนล้านบาท และตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2562 กำหนดให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จะต้องยกเลิกการชดเชยราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชีวภาพ ทั้งกลุ่มน้ำมันแก๊สโซฮอล์ และน้ำมันไบโอดีเซล ภายในวันที่ 24 ก.ย. 2567 แต่ยังสามารถผ่อนผันได้อีก 2 ปี หรือ ไปสิ้นสุดในวันที่ 24 ก.ย. 2569 ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น กองทุนน้ำมันฯ จะไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือได้แล้ว ทางกระทรวงพลังงาน จึงต้องกำหนดแผนว่าจะดูแลผู้ประกอบการเอทานอลและไบโอดีเซลอย่างไร
โดยเบื้องต้นได้เตรียมแนวทางผลักดันได้สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับวัตดุดิบ แต่ก็ต้องมีการลงทุนด้านเทคโนโลยี ซึ่งหากเกิดขึ้นได้ทันภายใน 2 ปีนี้ ก็จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ แต่หากเกิดขึ้นไม่ทันผู้ประกอบการในธุรกิจนี้ก็อาจทยอยล้มหายตายจากไป ก็เป็นเรื่องที่ฝ่ายนโยบายและผู้ประกอบการจะต้องหาทางออกร่วมกัน
นอกจากนี้ ในร่างแผน Oil Plan 2024 ยังต้องพิจารณาเรื่องการขนส่งทางท่อ ซึ่งที่ผ่านมาภาครัฐได้พยายามผลักดันให้เกิดการลงทุนและใช้งาน และหากมีการตอบรับที่ดี ในอนาคตก็อาจขยายการขนลงไปยังหนองคาย และประเทศลาว ซึ่งจะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม ลดการเกิดอุบัติเหตุ และเพิ่มความสะดวกรวดเร็ว แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย เพื่อส่งเสริมให้เกิดเป็น Single Platform หรือ แพลตฟอร์มการขนส่งแบบไร้รอยต่อ
ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของ SPR หรือ คลังสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์ ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ความสำคัญ และมีเป้าหมายที่จะกำหนดให้สำรองน้ำมันฯ อยู่ที่ 90 วัน ก็เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณารายละเอียดต่อว่า จะหางบประมาณจากส่วนใด การดูแลรักษาเนื้อน้ำมัน และกลไกบริหารจัดการจะเป็นอย่างใด ก็เป็นเรื่องที่ต้องหารือกันต่อไป