net-zero

TGO จับมือ KBank เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด "คาร์บอนเครดิต" ไทย

    TGO จับมือ KBank วิเคราะห์สถานการณ์ตลาดคาร์บอนไทยเติบโตต่อเนื่อง มูลค่าตลาดภาคสมัครใจในระยะ 9 เดือนพุ่ง 17% ชี้ต้องให้ความรู้ สนับสนุนเงินทุน และเร่งพัฒนาให้ได้มาตรฐานสากล

(23 กรกฎาคม 2567) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (TGO) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (TCNN) ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย (KBank) และ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย (KResearch) อัพเดทสถานการณ์ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทย พร้อมเผยแนวโน้มตลาดในอนาคต ผ่านงานวิจัย "The 2024 Thailand's Voluntary Carbon Market" โดยผลวิจัยชี้ผู้เล่นหน้าใหม่ต้องการความรู้เกี่ยวกับ "คาร์บอนเครดิต" และการพัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตให้เทียบเท่าระดับสากล ส่วนกลุ่ม SMEs ต้องการทั้งความรู้และเงินทุน ซึ่งข้อมูลจากงานวิจัยที่ได้จะนำไปประกอบการพิจารณา เสนอแนะนโยบายส่งเสริมและผลักดันการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของประเทศไทย

 

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิต T-VER สะสมตั้งแต่ปี 2559 ถึง 2567 รวม 3.4 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 299 ล้านบาท ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง 146% อย่างไรก็ตาม ยังมีคาร์บอนเครดิตเหลือในระบบอีกกว่า 17.7 ล้านตัน สะท้อนถึงอุปทานส่วนเกินในตลาด

เพื่อยกระดับการดำเนินงานสู่ภาคบังคับ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมกำลังพัฒนาร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งจะครอบคลุมทั้งระบบซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ระบบภาษีคาร์บอน และการกำกับดูแลตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ เพื่อสร้างความโปร่งใสและส่งเสริมการพัฒนาตลาดอย่างยั่งยืน

 

TGO จับมือ KBank เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด \"คาร์บอนเครดิต\" ไทย

 

การสำรวจพฤติกรรมผู้เล่นในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการประเมินสถานการณ์ตลาด วิเคราะห์ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้เล่น และคาดการณ์แนวโน้มในอนาคต ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วนในการกำหนดกลยุทธ์และนโยบายเพื่อส่งเสริมตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

ดร. ณัฐริกา วายุภาพ นิติพน รองผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก รักษาการผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กล่าวว่า โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน มีที่ขึ้นทะเบียนโครงการจำนวนรวมทั้งสิ้น 438 โครงการ มาจากแบบ Standard T-VER จำนวน 434 โครงการ และแบบ Premium T-VER จำนวน 4 โครงการ ซึ่งในจำนวนนี้มีโครงการที่ได้รับรองคาร์บอนเครดิต จำนวน 169 โครงการมาจากแบบ Standard T-VER

 

โดยมีปริมาณคาร์บอนเครดิตที่ได้รับการรับรองแล้ว 19.53 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ขณะที่เริ่มมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิต TVERs ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 จนถึงปัจจุบัน (ล่าสุดมิถุนายน 2567) มีปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครดิตเกิดขึ้นในตลาดแรกและตลาดรอง จำนวนกว่า 3.42 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า มูลค่าชื้อขายรวมกว่า 299 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของไทยในระยะ 9 เดือนของปีงบประมาณ 2567 เติบโตขึ้นกว่า 17% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า รวมถึงโอกาสที่ตลาดจะขยายตัวจากแรงกระตุ้นของร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. ... ที่จะปรับใช้ในอนาคตอีกด้วย

 

นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ในประเทศไทย ปริมาณการซื้อขายคาร์บอนเครติตถือว่ายังอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 0.77% ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยทั้งหมด อุปสรรคสำคัญหนึ่งก็คือต้นทุนในการดำเนินการ ทั้งต้นทุนค่าประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของตลาดคาร์บอนเครดิตในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้พัฒนาโครงการรายเล็กที่ขาดแคลนเงินทุน

 

TGO จับมือ KBank เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด \"คาร์บอนเครดิต\" ไทย

 

ทิศทางการเติบโตตลาดคาร์บอนในประเทศไทย

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนา แม้มูลค่าการซื้อขายยังไม่สูงมาก แต่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายภาครัฐที่สนับสนุนตลาดในทุกมิติเป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

  • อุปทาน

ในด้านอุปทาน ไทยมีความได้เปรียบด้วยมาตรฐานการรับรองคาร์บอนเครดิต 2 รูปแบบ แต่ยังมีข้อจำกัดด้านความรู้และต้นทุน โดยเฉพาะสำหรับ SMEs ในอนาคตอาจเกิดภาวะขาดแคลนคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง จึงจำเป็นต้องมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมเพื่อสร้างสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน

 

  • ราคา

ในมิติของราคา คาดว่าจะมีแนวโน้มสูงขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น โดยคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจะมีราคาสูงกว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการซื้อขาย เช่น กฎระเบียบกำกับดูแลตลาด และการเปิดโอกาสให้ผู้เล่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาด จะช่วยกระตุ้นสภาพคล่องและความโปร่งใส การส่งเสริมให้เกิดศูนย์ซื้อขายจะช่วยให้การกำหนดราคาเป็นไปตามกลไกตลาดและเพิ่มความเชื่อมั่นในการประเมินทิศทางราคา

 

  • อุปสงค์

ด้านอุปสงค์ ปัจจุบันยังมีแรงจูงใจน้อย โดยส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดใหญ่ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก องค์กรขนาดเล็กยังมีข้อจำกัดในการเข้าร่วมตลาด โดยเฉพาะด้านสิทธิประโยชน์และการสนับสนุนจากภาครัฐ การส่งเสริม SMEs ควรเน้นการสนับสนุนทั้งด้านความรู้และการเงิน รวมถึงการลดต้นทุนในการตรวจสอบและรับรองโครงการ ตลอดจนมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิตเพื่อจูงใจให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนมากขึ้นในอนาคต

 

ผู้เล่นหลักในตลาด ใครบ้างที่เข้ามามีส่วนร่วม?

จากการสำรวจในช่วงต้นปี 2567 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ คิดเป็น 54% ตามมาด้วย SMEs 39% และหน่วยงานรัฐ/องค์กรอิสระ 7% เมื่อจำแนกตามหมวดอุตสาหกรรม พบว่าภาคการผลิตมีสัดส่วนมากที่สุดถึง 32% รองลงมาคือเกษตรกรรม การล่าสัตว์และป่าไม้ 13% และบริษัทที่ปรึกษา 10% สะท้อนให้เห็นว่าภาคส่วนที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเริ่มตื่นตัวในการหาทางลดผลกระทบ

 

ความก้าวหน้าในการลดก๊าซเรือนกระจกยังมีช่องว่างให้พัฒนา

ผลสำรวจชี้ให้เห็นว่า 63% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีการตรวจวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว แต่มีเพียง 43% ที่กำหนดแผนเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก และมีเพียง 25% ที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกจริงๆ ที่น่าสนใจคือมีเพียง 18% ที่มีการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิต สะท้อนให้เห็นว่ายังมีช่องว่างระหว่างการรับรู้ปัญหาและการลงมือปฏิบัติจริง

 

บทบาทในตลาดคาร์บอนเครดิต ใครทำอะไรบ้าง?

ในด้านความเกี่ยวข้องกับตลาดคาร์บอนเครดิต 44% ของผู้ตอบแบบสอบถามมีส่วนร่วมโดยตรง โดยแบ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการหรือผู้ขาย 27% ผู้ซื้อหรือตัวกลางซื้อขาย 13% และหน่วยงานสนับสนุน 4% ขณะที่ 40% อยู่ระหว่างการศึกษาตลาด แสดงให้เห็นถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้นในกลไกนี้

 

กลุ่ม Climate Action ผู้นำการเปลี่ยนแปลง

กลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อตลาดคาร์บอนเครดิตคือ กลุ่ม Climate Action ซึ่งมีการดำเนินการลดก๊าซเรือนกระจกแล้ว พวกเขาคิดเป็น 34% ของผู้ตอบแบบสอบถาม แต่มีความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกถึง 93% ของความต้องการทั้งหมด และมีปริมาณการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตคิดเป็น 96% ของปริมาณทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ (70%) และอยู่ในสาขาการผลิต (37%) สาขาไฟฟ้า แก๊ส และการประปา (15%) และสาขาขนส่ง (14%)

 

ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทาน

ผลสำรวจพบว่า มีความไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานในตลาดคาร์บอนเครดิต ปริมาณความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกต่อปีของกลุ่มผู้ซื้อและตัวกลางซื้อขายคาร์บอนเครดิต มีจํานวน 724,700 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ขณะที่มีการชดเชยด้วยคาร์บอนเครดิตเพียง 253,200 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี ส่งผลให้มีความต้องการลดก๊าซเรือนกระจกต่อปีขาดแคลนเป็นจำนวน 471,500 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี โดยเฉพาะในภาคขนส่งและการผลิตผู้ซื้อสนใจคาร์บอนเครดิตจากโครงการพลังงานทดแทนมากที่สุด แต่คาร์บอนเครดิตจากโครงการป่าไม้ซึ่งมีความสำคัญกลับมีการนำออกมาขายในตลาดน้อย เนื่องจากผู้พัฒนามักนำไปใช้ชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง

 

TGO จับมือ KBank เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด \"คาร์บอนเครดิต\" ไทย

 

ความท้าทายที่ตลาดคาร์บอนเครดิตไทยกำลังเผชิญ

ราคาเป็นอีกประเด็นสำคัญในตลาดคาร์บอนเครดิต โดยราคาที่ผู้ขายต้องการมักสูงกว่าที่ผู้ซื้อยินดีจ่าย โดยเฉพาะในกลุ่มโครงการป่าไม้และการเกษตรที่มีความแตกต่างของราคายินดีซื้อและขายสูงถึง 67% ขณะที่โครงการพลังงานหมุนเวียนและการจัดการของเสียมีความแตกต่าง 48% และ 20% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ผู้ตอบแบบสอบถามคาดการณ์ว่าราคาคาร์บอนเครดิตในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้น 17% จากปัจจุบัน

 

แม้โครงการด้านป่าไม้และการเกษตรจะได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จาก 10 โครงการในปี 2564 เป็น 33 โครงการในปี 2567 แต่ปริมาณการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกกลับมีแนวโน้มลดลง สะท้อนถึงความท้าทายในการดำเนินโครงการประเภทนี้ ทั้งในแง่ของความยากและระยะเวลาดำเนินการที่ยาวนานกว่าโครงการประเภทอื่น

 

ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อตลาดคาร์บอนไทยในอนาคต ได้แก่ การบังคับใช้ พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ใน 1-2 ปีข้างหน้า การมีตลาดคาร์บอนภาคบังคับ และมาตรการสนับสนุนทางการเงิน และความต้องการของผู้ประกอบการและผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น โดยผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 62 เชื่อว่า พ.ร.บ. ดังกล่าวจะเป็นปัจจัยหลักที่ผลักดันราคาคาร์บอนเครดิตให้สูงขึ้น

 

TGO จับมือ KBank เปิดผลวิเคราะห์สถานการณ์ตลาด \"คาร์บอนเครดิต\" ไทย

 

นอกจากนี้ การเปิดเผยข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญ โดยข้อมูล ณ วันที่ 15 กรกฎาคม 2567 พบว่ามีเพียง 205 จาก 700 บริษัทที่เปิดเผยข้อมูลนี้ หากมีการปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดขึ้น อาจส่งผลให้ความต้องการคาร์บอนเครดิตเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

 

ขณะเดียวกันมีแนวโน้มการขยายตัวของกลุ่มองค์กรที่มุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutral หรือ Net Zero ภายใต้โครงการ Climate Action Leading Organization (CALO) ซึ่งปัจจุบันมีองค์กรที่ประกาศเจตนารมณ์และผ่านการรับรองแล้ว 117 องค์กร โดยในปี 2567 มี 92 องค์กรที่ส่งผลการดำเนินงานเพื่อประเมิน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 73.08

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในเรื่องของคุณภาพคาร์บอนเครดิต โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับมาตรฐานสากล เช่น แนวทางปฏิบัติ Carbon Core Principal (CCP) ขององค์กร The Integrity Council for the Voluntary Carbon Market (ICVCM) ที่คาดว่าจะมีคาร์บอนเครดิตสะสมคงเหลือเพียง 54% ที่จะได้รับรองเครื่องหมาย CCP ส่งผลให้กลุ่มคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูงจะเป็นกลุ่มที่มีความต้องการมากกว่า

 

ในแง่นี้ การพัฒนามาตรฐาน Premium T-VER ของไทยที่สอดรับกับความตกลงปารีสข้อ 6 และหลักการคาร์บอนเครดิตคุณภาพสูง อาจเป็นก้าวสำคัญที่จะช่วยยกระดับตลาดคาร์บอนไทยสู่เวทีโลก และเพิ่มโอกาสในการขายคาร์บอนเครดิตให้กับภาคต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับความน่าเชื่อถือสูง

 

แนวทางการพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ

เพื่อพัฒนาตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ ผู้เล่นในตลาดเสนอให้มีการสนับสนุน 2 ด้านหลัก ได้แก่...

1. การให้ความรู้แก่ผู้เล่นใหม่: เกี่ยวกับแนวทางการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนคาร์บอนเครดิต และกระบวนการซื้อขาย

2. การพัฒนามาตรฐาน: พัฒนามาตรฐานคาร์บอนเครดิตในประเทศให้เทียบเท่าและได้รับการยอมรับในระดับสากล รวมถึงมีนโยบายภาคบังคับในการตรวจวัด รายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจก และลดก๊าซเรือนกระจก

 

สำหรับ SMEs ต้องการให้มีนโยบายสนับสนุนด้านความรู้และการสนับสนุนทางการเงิน รวมถึงการลดต้นทุนในการขอรับรองคาร์บอนเครดิต และการมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิต เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในตลาด สร้างแรงจูงใจโดยการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตสำหรับผู้พัฒนาโครงการและมีกลไกอุดหนุนราคาคาร์บอนเครดิตเพื่อให้ธุรกิจ SMEs เข้าร่วมในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจมากขึ้น

 

แม้ตลาดคาร์บอนไทยจะยังมีความท้าทายอีกมาก ทั้งในแง่ของความสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทาน ราคา และคุณภาพของคาร์บอนเครดิต แต่ก็เต็มไปด้วยโอกาสและศักยภาพในการเติบโต การเตรียมความพร้อมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน จะเป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนในอนาคต

 

ขอบคุณข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์และแนวโน้มตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจประเทศไทยปี 2567โดย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย ธนาคารกสิกรไทย และศูนย์วิจัยกสิกรไทย