net-zero

ถอดบทเรียนต้นแบบ สู่ "ชุมชนคาร์บอนต่ำไทย" กุญแจสำคัญกู้โลกรวน

    รวมแนวทางสร้างความเข้าใจ "โลกรวน" บทบาทสำคัญ "ชุมชน" ร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนไทยสู่เป้าหมาย Net Zero อย่างยั่งยืน

(วันที่ 28 สิงหาคม 2567) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ จัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติ 2567 (Thailand Research Expo 2024) ภายในงานมีการจัดเสวนาในหัวข้อ "Less Carbon = Rescue : ชุมชนคาร์บอนต่ำกับปฏิบัติการกู้โลกรวน" ณ ห้อง Lotus Suite ชั้น 22 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ และบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์เซ็นทรัลเวิลด์ กรุงเทพมหานคร 

 

โดยมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหลากหลายภาคส่วนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของชุมชนในการขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero และการขับเคลื่อนด้วยบทบาทชุมชนในอนาคต ได้แก่ คุณปวิศ เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ, ดร.กอบชัย ทรงศรีสง่า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจาก Japan International Cooperation Agency (JICA), คุณกนกกร ดงหลง กรรมการและเลขานุการ เครือข่าย ทสม. จังหวัดสระบุรี และ รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ในการเสวนาครั้งนี้ คณะวิทยากรได้หยิบยกประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ "ปัญหาความไม่เข้าใจเกี่ยวกับปัญหาโลกร้อนในระดับชุมชน" อาทิ การขาดความตระหนักถึงผลกระทบของพฤติกรรมส่วนบุคคลต่อสภาพภูมิอากาศ ทำให้ชาวบ้านไม่เห็นความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต นอกจากนี้ ยังเกิดความเข้าใจผิดว่าปัญหาโลกร้อนเป็นความรับผิดชอบของภาคอุตสาหกรรมหรือนายทุนเท่านั้น ส่งผลให้ชุมชนขาดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา ที่สำคัญ ความไม่เข้าใจนี้ยังทำให้เกิดช่องว่างระหว่างนโยบายระดับชาติกับการปฏิบัติในระดับท้องถิ่น ทำให้การขับเคลื่อนเป้าหมาย Net Zero เป็นไปอย่างล่าช้าและขาดประสิทธิภาพเนื่องจากขากกำลังจากองคาพยพที่สำคัญ

 

ต้นแบบประเทศนำเทรนด์รับมือโลกรวนเห็นผล

รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ ได้นำเสนอมุมมองเปรียบเทียบจากประสบการณ์การศึกษาดูงานในประเทศที่เป็นผู้นำด้านการรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น เน้นย้ำถึงหลักการคิด "mottainai" หรือ "เสียดาย" ซึ่งฝังรากลึกในวัฒนธรรมญี่ปุ่น รศ.ดร.สุนิดากล่าวว่า สิ่งที่ยึดโยงใจชาวญี่ปุ่น คือหลักการคิด 勿体無い (mottainai) ที่แปลได้ว่า 'เสียดาย' ไม่ว่าจะเป็นในแง่ทรัพยากร อาหาร ที่สูญเปล่าในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการปลูกฝังวินัยและความรับผิดชอบต่อส่วนรวมผ่านระบบการศึกษาของญี่ปุ่น

ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ เสริมประเด็นนี้โดยกล่าวว่า "ในสังคมญี่ปุ่นมีการปลูกฝังชุมชนและสังคมเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ให้ความสำคัญกับสังคมที่อยู่รอบตัวเช่น ครอบครัว ชุมชนในหมู่บ้าน ไปจนถึงระดับชุมชนที่กว้างขึ้น ซึ่งแนวคิดนี้สามารถนำมาปรับใช้กับบริบทของไทยได้ เพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับชุมชน

 

ดร.กอบชัย ทรงศรีสง่า นำเสนอบทบาทของ JICA ในประเทศไทย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุว่า "JICA เข้ามามีส่วนร่วมในการสร้างศักยภาพและความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับเจ้าหน้าที่ เช่นการร่วมมือกำหนดแผนแม่บทฯ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเดินหน้าลดภาวะโลกร้อนกับกรุงเทพมหานคร และโครงการอื่นๆ" นอกจากนี้ ดร.กอบชัย ยังชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการจัดการปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานครเป็นตัวอย่าง ซึ่งเป็นแหล่งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่สำคัญ

 

ความท้าทายเพื่อเข้าถึงความเข้าใจของชุมชน

คุณกนกกร ดงหลง ได้สะท้อนมุมมองจากระดับชุมชน โดยเล่าว่า "แรกเริ่มเดิมทีในระดับชุมชนอยู่แบบต่างคนต่างอยู่และไม่เข้าใจคำว่า "โลกร้อน" รับรู้เพียงว่าอากาศร้อนขึ้น โดยที่ไม่ได้มองว่าในระดับบุคคลมีส่วนทำให้เกิดโลกร้อน" พร้อมชี้ให้เห็นว่า ชาวบ้านมักมองว่านายทุนเป็นผู้ก่อปัญหาหลักที่ทำให้เกิดมลพิษและผลกระทบต่อโลก ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างความเข้าใจผ่านช่องทางที่ชุมชนคุ้นเคย เช่น การเทศนาของพระสงฆ์ ซึ่งเป็นศูนย์รวมจิตใจที่คนในชุมชนศรัทธา เป็นอีกวิธีที่สามารถสร้างความเข้าใจและการตื่นรู้เกี่ยวกับภาวะโลกร้อนและผลกระทบ

 

คุณปวิศ เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม หรือ กรมลดโลกร้อน เน้นย้ำว่า การสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญ โดยเปรียบเทียบปัญหาโลกร้อนกับ "เส้นผมบังภูเขา" ปัญหาโลกร้อนในมุมมองของชุมชนเหมือนเส้นผมบังตา วิธีคือทำให้เข้าใจว่าทุกสิ่งในชีวิต เช่นพฤติกรรม วิถีชีวิตที่คนเราคุ้นชินจนละเลย มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งสิ้น และเป็นหน้าที่ที่สำคัญของภาครัฐในการสร้างความเข้าใจนี้

 

รศ.ดร.สุนิดา ได้ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่างในการรับรู้ระหว่างภาครัฐ เอกชน และชุมชน ปัญหาโลกร้อนในมุมมองของชาวบ้านเป็นเรื่องที่ 'ยาก' ในการจัดการ เปรียบเทียบได้กับรถไฟเหาะตีลังกาที่ทิ้งดิ่ง 90 องศา เนื่องจากชาวบ้าน "รับรู้ถึงการมีอยู่ของปัญหา แต่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน" ในขณะที่ภาครัฐและเอกชนมีเป้าหมายที่ชัดเจนกว่า

 

แนวทางการขับเคลื่อนพาชุมชนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

ในส่วนของแนวทางการขับเคลื่อนในอนาคต คณะวิทยากรได้เสนอแนะหลายประเด็น อาทิ ความจำเป็นของภาครัฐในการลงมือทำเป็นแบบอย่าง โดนทำจริง และบันทึกข้อมูลนำเสนอโปร่งใส นอกจากนี้ ยังควรสร้างความร่วมมือและดำเนินการที่เห็นผลชัดเจน เช่น โครงการสระบุรีแซนด์บอกซ์

 

รศ.ดร.สุนิดา เสนอให้มีการวัดผลที่ชัดเจน โดยกล่าวว่า "ตอนนี้เรามีพันธมิตร อ.อนุสร JICA กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ทสม. เข้าร่วมเดินหน้าขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย แต่ถึงจะเกิดการตระหนักรู้และมีส่วนร่วมแล้วในหลายพื้นที่ตัวอย่าง แต่ยังขาดการวัดผลที่ชัดเจน และการแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนดูเป็นเรื่องง่าย เพื่อให้ชุมชนสามารถเข้าถึงและมีส่วนร่วมได้มากขึ้น"

 

ถอดบทเรียนต้นแบบ สู่ \"ชุมชนคาร์บอนต่ำไทย\" กุญแจสำคัญกู้โลกรวน

 

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายในการรับมือกับภาวะโลกรวนในแง่ของความหลากหลายของชุมชนในประเทศไทย ทั้งชุมชนเมืองและชนบท ซึ่งมีบริบทและความท้าทายที่แตกต่างกัน ดังนั้นการออกมาตรการที่สอดรับและเหมาะสมกับความแตกต่างเหล่านี้จึงจำเป็นอย่างยิ่ง กล่าวคือผู้กำหนดนโยบายหรือมาตรการไม่สามารถออกมาตรการเดียวและใช้รวมทั้งหมดได้ทุกชุมชน จำเป็นต้องผ่านการปรับประยุกต์ให้เหมาะสมเพื่อให้เกิดผลจริงในแต่ละพื้นที่

 

ท้ายที่สุด การแก้ปัญหาโลกรวนไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน โดยภาครัฐมีหน้าที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจและเป็นตัวอย่าง ปรับแนวคิด Net Zero ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถก้าวไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืน

 

คุณปวิศ เกศววงศ์ รองอธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะทสม.

ดร.อนุสนธิ์ ชินวรรโณ ผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ

ดร.กอบชัย ทรงศรีสง่า เจ้าหน้าที่โครงการอาวุโสจาก Japan International Cooperation Agency (JICA)

คุณกนกกร ดงหลง กรรมการและเลขานุการ เครือข่าย ทสม. จังหวัดสระบุรี และคณะ

รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถอดบทเรียนต้นแบบ สู่ \"ชุมชนคาร์บอนต่ำไทย\" กุญแจสำคัญกู้โลกรวน