net-zero

กฎระเบียบ นโยบายรัฐ สังคม ความท้าทายลด CO2 ไทย

    ก่อนหน้านี้ได้หยิบยกบทความ PIERspectives “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับเศรษฐกิจ: ตอนที่ 2 การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” เขียนโดยกรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ และ ศ. ดร. กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วยอึ๊งภากรณ์

กฎระเบียบ นโยบายรัฐ สังคม ความท้าทายลด CO2 ไทย

ทั้งนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงประเทศไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากทางด้านเศรษฐกิจมาตอนหนึ่งแล้ว ที่ชี้ให้เห็นว่าภาคธุรกิจขาดแรงจูงใจในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เนื่องจากยังไม่มีการใช้มาตรการกำหนดราคาคาร์บอน (carbon pricing measures) ปัญหา fossil-fuel lock-in การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ใช้เงินลงทุนที่สูง และภาคธุรกิจบางส่วนขาดเงินทุน ราคาของเทคโนโลยีที่มีศักยภาพสูงในการลด ดักจับ หรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกยังค่อนข้างสูง เป็นต้น

ในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากมีความท้าทายและอุปสรรคทางด้านเศรษฐกิจแล้ว ในบทความ ยังชี้ให้เห็นถึงเรื่องของกฎหมาย กฎระเบียบและนโยบายของภาครัฐ และทางด้านสังคม ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า เนื่องจากกฎหมายและกฎระเบียบ ยังไม่จูงใจให้ภาคธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และลงทุนในเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงนโยบายสนับสนุนของภาครัฐที่ไม่ต่อเนื่อง อาจไม่จูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุน

กฎระเบียบ นโยบายรัฐ สังคม ความท้าทายลด CO2 ไทย

ผู้เขียนบทความ ได้ชี้ให้เห็นถึงงานศึกษาของOECD (2015) และInstitute for Sustainable Development (2017)ว่า นโยบายอุดหนุนราคาพลังงาน (fossil fuel subsidies) เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลทำให้การคิดค้นนวัตกรรมด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดขึ้นได้ช้าลง และเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า

อีกทั้ง กฎหมายและกฎระเบียบซึ่งกำกับการซื้อขายไฟฟ้า ก็อาจเป็นอุปสรรคในการลงทุนด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน

สรุปคือ การขาดกฎหมายที่บังคับให้ผู้ประกอบการเปิดเผย และรายงานปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อย กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายไฟฟ้าเป็นอุปสรรคต่อการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานหมุนเวียน ความไม่แน่นอนทางด้านนโยบายหรือการที่นโยบายสนับสนุนขาดความต่อเนื่อง และการขาดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า เป็นต้น

รวมถึง ความท้าทายด้านสังคม ที่ขาดความตระหนักของผู้บริโภค ถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการสนับสนุนสินค้าและบริการคาร์บอนตํ่า ตลอดจนการขาดทักษะและความไม่พร้อมของแรงงานในการรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า เป็นหนึ่งในอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า

ผู้เขียนบทความสะท้อนถึงงานศึกษาของ Saraji & Streimikiene (2023)ซึ่งศึกษาปัจจัยที่เป็นความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาด (energy transition) พบว่า การขาดความตระหนักของผู้บริโภคถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเป็นอุปสรรคสำคัญ ดังนั้น การให้ข้อมูลและความรู้แก่ผู้บริโภค ผ่านกิจกรรมรณรงค์ เว็บไซด์ และช่องทางต่าง ๆ เป็นสิ่งที่จำเป็น

นอกจากนี้ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อาจจำเป็นต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในส่วนของผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป เช่น การลดการใช้พลังงาน การลดการใช้ยานพาหนะส่วนบุคคล การปรับเปลี่ยนไปใช้ระบบสื่อสารมวลชน เป็นต้น รวมทั้งควรมีการเสริมสร้างและปรับเปลี่ยนทักษะของแรงงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า เมื่อมีการปรับเปลี่ยนจากอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง เช่น การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ไปสู่อุตสาหกรรมที่สะอาดมากขึ้น

ในครั้งต่อไป จะนำเสนอถึงข้อเสนอแนะเชิงนโยบายสำหรับประเทศไทย ของผู้เขียนบทความ ที่จะมีส่วนสนับสนุนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ตามที่กำหนดไว้

หน้า 7 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,060 วันที่ 9 - 11 มกราคม พ.ศ. 2568