net-zero

เปิดแผนรับมือโลกร้อน ไทยตั้งเป้า 'คาร์บอนนิวทรัล' ปี 2050

    "กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศฯ” เปิดเวทีรับฟัง 10 ก.ย. นี้ แผนปฏิบัติการใหม่ มุ่งสู่ 'Net Zero' ปี 2065 เน้น 6 ด้านสำคัญ รวมพลังทุกภาคส่วนสู้วิกฤตโลกร้อน

“กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม” เปิดเวทีในวันอังคารที่ 10 กันยายน 2567 เพื่อทบทวนแผนปฏิบัติการด้านการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ตามกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความตกลงปารีส ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 

และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในการจัดทําร่างแผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยคำนึงถึงความเหมาะสมตามบริบทของประเทศ และได้กำหนดจัดการ 

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการเสริมสร้างศักยภาพการดําเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระบุโดยสรุปว่า ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของการร่วมมือกับประชาคมโลกในการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC) และการลงนามในข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นพันธกรณีที่สำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง และการเสริมสร้างความสามารถในการรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

การดำเนินงานเพื่อลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยมีเป้าหมายใหญ่คือการบรรลุภาวะ "Carbon Neutrality" ภายในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2065 โดยสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ระยะยาวของประเทศในการพัฒนาที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (LT-LEDS) และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามเป้าหมาย NDC

การเสริมสร้างความร่วมมือทั้งภายในและภายนอกประเทศเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาภายในระบบ การฝึกอบรม การสร้างความตระหนักรู้ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระดับท้องถิ่นและระดับนานาชาติ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานงานและดำเนินการตามกรอบ ACE (Action for Climate Empowerment)

สำหรับร่างแผนปฏิบัติการเสริมพลังความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งครอบคลุม 6 ด้านได้แก่

1.ด้านการศึกษา

  • ส่งเสริมการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกระดับการศึกษา ทั้งการบูรณาการเนื้อหาในหลักสูตรพื้นฐาน อาชีวศึกษา และระดับอุดมศึกษา

 

2.ด้านการฝึกอบรม

  • พัฒนาศักยภาพบุคลากรที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผู้กำหนดนโยบายและเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้มีความรู้และทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

 

3.ด้านการสร้างจิตสำนึก

  • จัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่สาธารณะผ่านสื่อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม

 

4.ด้านการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของสาธารณชน

  • พัฒนาชุดข้อมูลและสื่อที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น E-learning, Infographic เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและสะดวก

 

5. ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน

  • ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินการ เพื่อรับมือกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ

 

6.ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศ

ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ระหว่างประเทศ รวมถึงการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อมูลจากร่างแผนฯ ดังกล่าวระบุว่า มาตรการเหล่านี้จะมีความสำคัญในการรับมือกับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยการดำเนินงานร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคมจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายในการลดก๊าซเรือนกระจกได้สำเร็จ