net-zero

ไทยเร่งจัดทำแผนลด CO2 จี้ประเทศพัฒนาแล้ว ระดมเงินช่วยเหลือลดโลกร้อน

    การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกลายเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต้องเผชิญและหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ประเทศไทยเองก็ไม่ยกเว้นจากความท้าทายนี้

ทั้งนี้ด้วยเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ซึ่งสะท้อนถึงการเตรียมพร้อมของประเทศในการก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจสีเขียวให้ก้าวทันนานาประเทศทั่วโลก

ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ให้สัมภาษณ์กับ "ฐานเศรษฐกิจ" โดยได้เน้นย้ำถึงความก้าวหน้าของไทยในการมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero รวมถึงการวางแผนระยะยาวและการเตรียมพร้อมสำหรับการประชุม COP29 ที่จะมีบทบาทสำคัญในอนาคต รวมถึงการเตรียมพร้อมสู่การเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนของประเทศไทย

ความก้าวหน้าของไทยสู่ Net Zero

ประเทศไทยได้วางเป้าหมายระยะยาวในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง โดยมีเป้าหมายที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2065 อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายระยะยาวนี้ จำเป็นต้องมีการดำเนินการในระยะสั้นก่อน โดยประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายระยะสั้นคือการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2030

ล่าสุดในปี 2024 ประเทศไทยได้จัดทำแผนปฏิบัติการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเสร็จสมบูรณ์แล้ว และแผนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ซึ่งหลังจากผ่านการอนุมัติจาก สศช. แล้วจะถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติในขั้นสุดท้าย เมื่อแผนได้รับการอนุมัติ จะสามารถดำเนินการในทุกภาคส่วนสำคัญ ได้แก่ ภาคพลังงาน ขนส่ง อุตสาหกรรม การจัดการของเสีย และการเกษตร

หนึ่งในโครงการสำคัญที่เป็น “เรือธง” ของแผนนี้คือโครงการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture) โดย บริษัท ปตท.สผ. ซึ่งโครงการนี้ถูกออกแบบมาเพื่อดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ปล่อยออกจากกิจกรรมอุตสาหกรรม โครงการดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการผลักดันให้การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมีประสิทธิภาพ

นอกเหนือจากการวางแผนระยะยาว ประเทศไทยยังได้เริ่มดำเนินการในหลายด้านพร้อมกันในปี 2024 โดยการติดตามผลการลดก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมาได้แสดงผลที่น่าพอใจ โดยมีการลดก๊าซเรือนกระจกไปได้ประมาณ 60 ล้านตัน ซึ่งครอบคลุมทุกภาคส่วนที่กล่าวมา และยังมีการดำเนินการต่อเนื่องตามตัวชี้วัดรายปีเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายระยะสั้นสำหรับปี 2030 นี้

“ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายระยะสั้นในปี 2030 ได้อย่างแน่นอน จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายระยะยาวในปี 2050 และ 2065 เป็นไปได้จริง ทั้งนี้การดำเนินการที่ครอบคลุมและมีประสิทธิภาพในทุกภาคส่วน จะช่วยเสริมสร้างโอกาสให้ประเทศไทยสามารถก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างยั่งยืนในอนาคต”

บทบาทของไทยในเวที COP29

สำหรับการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาฯ สมัยที่ 29 (COP 29) มีกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน เป็นเวทีระดับโลกว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะมีบทบาทสำคัญต่อทิศทางการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมในอนาคต และประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่เตรียมนำเสนอประเด็นสำคัญต่อที่ประชุมครั้งนี้

ประเด็นที่ประเทศไทยจะนำเสนอต่อที่ประชุมมีหลายประเด็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของการจัดสรรเงินทุนเพื่อช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งไทยจะร่วมกับกลุ่ม 77 และจีน เพื่อผลักดันให้ประเทศพัฒนาแล้วเข้ามาช่วยเหลือทางการเงินให้ประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทยสามารถเข้าถึงเงินทุนนี้ ซึ่งมีเป้าหมายระดมทุนมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ความร่วมมือนี้จะเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านหลายภาคส่วนที่ยังประสบความท้าทาย ทั้งภาคธุรกิจภาคอุตสาหกรรม และภาคสังคม

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญคือ การเจรจาเกี่ยวกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศพัฒนาแล้วในปี 2035 ซึ่งตัวเลขของเป้าหมายโลกที่กำหนดไว้คือการลดการปล่อยก๊าซให้ได้อย่างน้อย 60% ประเทศไทยคาดหวังว่าตัวเลขนี้จะมีความยืดหยุ่นและสอดคล้องกับความสามารถของแต่ละประเทศ การเข้าถึงเทคโนโลยีและเงินทุนสนับสนุนจากประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีบทบาทสำคัญในฐานะผู้นำร่วมกับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในการใช้กลไกข้อ 6 ของข้อตกลงปารีส ซึ่งเป็นกลไกที่มุ่งเน้นการใช้วิธีการค้าคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ การดำเนินงานนี้จะถูกนำเสนอในที่ประชุม โดยประเทศไทยจะแบ่งปันประสบการณ์และบทเรียนที่ได้รับจากการจัดการกระบวนการอนุญาตและความโปร่งใสในการดำเนินงาน ซึ่งจะช่วยให้ประเทศอื่น ๆ สามารถออกแบบระเบียบและวิธีการดำเนินการได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นในอนาคต

พร้อมสู่ฮับซื้อขายคาร์บอนเครดิต

สำหรับนโยบายของรัฐบาล ที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายคาร์บอนเครดิตในอาเซียนนั้น ถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของประเทศไทย ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการซื้อขายคาร์บอนเครดิตผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดตลาดคาร์บอนที่มีประสิทธิภาพ

ดังนั้น การเร่งบังคับใช้พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะช่วยสร้างความต้องการจริงในตลาด โดยจะเชื่อมโยงตลาดภาคบังคับกับตลาดคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจให้สอดคล้องกัน การดำเนินการนี้จะช่วยให้สามารถกำหนดความต้องการของคาร์บอนเครดิตแต่ละประเภทได้อย่างชัดเจน และเชื่อมโยงกับชุมชนในการสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีการหารือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในการเขียนบทบัญญัติให้ตลาดหลักทรัพย์เป็นศูนย์กลางการซื้อขายหลักของประเทศ เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาสภาพคล่องที่เกิดจากการมีหลายตลาด โดยมีเป้าหมายที่จะให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการซื้อขายที่มีประสิทธิภาพที่สุด

ทั้งนี้ประเทศไทยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 372 ล้านตันต่อปี มากกว่าสิงคโปร์ที่มีเพียง 50 ล้านตันเท่านั้น เมื่อเทียบแล้วตลาดคาร์บอนเครดิตของไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้มากกว่า 5-6 เท่าของสิงคโปร์ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเป็นตลาดที่มีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตค่อนข้างคึกคักในอาเซียน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังอยู่ระหว่างการผลักดันมาตรฐาน Premium T-VER ของ อบก. (TGO) ซึ่งเป็นมาตรฐานคาร์บอนเครดิตของไทยให้ได้รับการยอมรับในระดับภูมิภาคอาเซียน การใช้มาตรฐานนี้จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการซื้อขายคาร์บอนเครดิต