โอกาสและความท้าทายของไทย ใน COP29

19 ก.ย. 2567 | 04:51 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ก.ย. 2567 | 05:19 น.

โอกาสและความท้าทายของไทย ใน COP29 : บทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 4028

การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ COP29 ที่จะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2567 ณ กรุงบากู สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในการรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศไทย

ประเด็นหลักที่จะมีการถกเถียงในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ การกำหนดเป้าหมายทางการเงินใหม่ (NCQG) หลังปี 2025 ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนทางการเงินแก่ประเทศกำลังพัฒนา กว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐให้สําเร็จ เพื่อที่เงินเหล่านี้จะย้อนกลับมาให้ทุกประเทศที่กําลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย นํามาใช้ในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจในหลากหลายภาคธุรกิจที่ยังมีความยากลําบากในการเปลี่ยนผ่าน

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่นที่สำคัญ อีก 4 ประเด็น ได้แก่ 1. การทบทวนสถานการณ์และการดำเนินงานระดับโลก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส 2. เป้าหมายการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก ที่จะต้องร่วมกันพิจารณาตัวชี้วัดทั้งที่เป็นตัวชี้วัดร่วมกันในระดับโลก และการกำหนดตัวชี้วัดในระดับพื้นที่ตามบริบทของแต่ละประเทศ

3. การสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) จะมีการหารือรายละเอียดการดำเนินงานของกองทุนเพื่อการสูญเสียและความเสียหาย ที่ส่งผลกระทบในทุกมิติ ที่ไม่ใช่เฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจเท่านั้น

 4. ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการหารือแนวทางการดำเนินงานด้านการเสริมสร้างศักยภาพเพื่อเชื่อมโยงระหว่าง Technology Mechanisms (TM) และ Financial Mechanisms (FM)

ต้องยอมรับว่า ทิศทางนโยบายในระดับโลกเกี่ยวกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก มีความเป็นรูปธรรมมากขึ้นนับตั้งแต่การประชุม COP26 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร ซึ่งการประชุมครั้งนั้นคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้ตอกย้ำ ถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในศตวรรษนี้ ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยทันทีและให้ได้มากที่สุด

ต่อมาในการประชุมรัฐภาคี กรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 28 (COP28) ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) เมื่อปลายปี พ.ศ. 2566 ประชาคมโลกเห็นตรงกันว่า จะต้องเร่งการลดก๊าซเรือนกระจกภายในศตวรรษนี้ เพื่อมุ่งสู่ Net zero ให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2050 และมีเป้าหมายที่จะลดก๊าซเรือนกระจกในระดับโลกให้ได้ 43% ภายในปี ค.ศ. 2030

สำหรับประเทศไทย การเข้าร่วม COP29 ถือเป็นโอกาสสำคัญในการผลักดันผลประโยชน์ของประเทศ ซึ่งไทยจะต้องแสดงจุดยืนที่สมดุลระหว่างความมุ่งมั่น ในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศและการรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ 

ในขณะที่ภาคเอกชนไทยควรมองการเปลี่ยนแปลงนี้เป็นโอกาสในการลงทุน แม้อาจมีต้นทุนสูงขึ้นในระยะสั้น แต่จะเป็นการสร้างความได้เปรียบในระยะยาว โดยเฉพาะเมื่อกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีความเข้มงวดมากขึ้น

COP29 จึงไม่เพียงเป็นเวทีระดับโลกในการแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศ แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญสำหรับประเทศไทยในการวางรากฐานสู่อนาคตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม 

ทั้งภาครัฐและเอกชนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ไทยสามารถรับมือกับความท้าทาย และคว้าโอกาสที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ