ทิศทางการค้า-การลงทุนทั่วโลก ณ ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการลดโลกร้อนและเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม (Go Green) มีเป้าหมายสำคัญเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้เกิดโลกร้อนให้เป็นศูนย์ จากเวลานี้ภาวะโลกร้อนกำลังเอาคืนมนุษย์ เห็นได้จากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ ทั้งน้ำท่วม ภัยแล้ง ไฟไหม้ป่า และอุบัติภัยต่างๆ ได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงไทยได้ออกมาตรการทางการค้าและส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายดังกล่าว
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า จากที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ )ได้เห็นชอบแผนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนเชิงรุกในระยะ 4 ปีข้างหน้า (พ.ศ. 2567-2570) โดยให้ความสำคัญกับการส่งเสริม 5 อุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่บีโอไอจะเน้นเป็นพิเศษเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ ได้แก่
1.อุตสาหกรรม BCG (Bio-Circular-Green) โดยเฉพาะเกษตร อาหาร การแพทย์ และพลังงานสะอาด
2.อุตสาหกรรมยานยนต์ เน้นยานยนต์ไฟฟ้า (EV) 3.อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ต้นน้ำ และผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ 4.อุตสาหกรรมดิจิทัลและสร้างสรรค์ และ 5.การส่งเสริมให้ไทยเป็นแหล่งที่ตั้งของสำนักงานภูมิภาคของบริษัทจากต่างประเทศ
อุตฯ BCG-EV แข่งลงทุน
ทั้งนี้ในส่วนของนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อ Go Green บีโอไอได้มุ่งเน้นการส่งเสริมการลงทุนเพื่อตอบโจทย์การสร้างอุตสาหกรรมสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีมาตรการส่งเสริมครอบคลุม 4 ภาคส่วนที่มีการปล่อยคาร์บอนสูงได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง ภาคพลังงาน และภาคชุมชน โดยในภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562-2565) บีโอไอได้ให้การส่งเสริมการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG แล้ว 2,675 โครงการ เงินลงทุน 497,018 ล้านบาท และมีมาตรการยกระดับอุตสาหกรรมโดยให้สิทธิประโยชน์กับผู้ประกอบการในการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดแล้วจำนวน 1,139 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 60,594 ล้านบาท
ภาคการขนส่ง บีโอไอให้การส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรม EV ทุกประเภทแบบครบวงจรตามนโยบาย 30@30 ของรัฐบาล เพื่อนำไปสู่การลดการปล่อยคาร์บอนจากภาคขนส่ง โดยได้มีการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม EV รวมแล้ว 80,799 ล้านบาท แบ่งเป็นการผลิตรถยนต์ BEV 18 โครงการ จักรยานยนต์ไฟฟ้า 12 โครงการ รถบัส/รถบรรทุกไฟฟ้า 3 โครงการ แบตเตอรี่ 43 โครงการ การผลิตชิ้นส่วนสำคัญ 24 โครงการ และสถานีชาร์จไฟฟ้า 20 โครงการ
ภาคพลังงาน ให้การส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาด และสนับสนุนกลไกการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับภาคอุตสาหกรรม มีคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในกิจการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน 1,776 โครงการ มูลค่าลงทุนกว่า 175,231 ล้านบาท เฉพาะปี 2566 มีจำนวนมากถึง 439 โครงการ มูลค่าลงทุน 70,644 ล้านบาท ซึ่งสูงกว่าปี 2565 ถึง 3 เท่า
ภาคชุมชน บีโอไอได้ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อพัฒนาชุมชนและสังคม โดยสนับสนุนให้ภาคเอกชนเพิ่มบทบาทในการช่วยพัฒนาและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การทำเกษตรอย่างยั่งยืน การปลูกข้าวมีเทนต่ำ การลดฝุ่น PM 2.5 เป็นต้น
อย่างไรก็ดี “ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลจากบีโอไอ ถึงการขอรับการส่งเสริมเพื่อ Go Green ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 โดยในกลุ่มอุตสาหกรรม BCG มีโครงการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 448 โครงการ มูลค่าลงทุน 118,160 ล้านบาท และในอุตสาหกรรม EV มีจำนวน 25 โครงการ มูลค่าลงทุน 6,260 ล้านบาท ซึ่งหากนับรวมตั้งแต่ปี 2562 ถึงช่วง 6 เดือนแรกปี 2567 มีโครงการ Go Green ขอรับการส่งเสริมแล้วมากกว่า 6,183 โครงการ มูลค่าลงทุนรวม 938,062 ล้านบาท
“หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อทิศทางการลงทุนในช่วง 5 ปีนับจากนี้ คือเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้เร่งปรับตัวในการลดคาร์บอน เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม รวมถึงแสวงหาแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งไทยมีศักยภาพด้านแหล่งพลังงานสะอาดอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค และอยู่ระหว่างการจัดทำกลไกการจัดหาพลังงานสะอาด หรือไฟฟ้าสีเขียวซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนระยะยาว”
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายหรือมาตรการลดโลกร้อน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) ของประเทศต่าง ๆ เฉพาะอย่างยิ่ง สหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา มีผลและทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย ทั้งการค้า การลงทุน การออกกฎหมาย การเงิน การพัฒนาเกษตร อุตสาหกรรม การใช้ที่ดิน ทั้งปัจจุบันและอนาคต
หลายประเทศใช้มาตรการเหล่านี้ในการกีดกัดสินค้า การลงทุน รวมถึงความร่วมมือไปพร้อมกัน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เป็น 2 ประเทศ/กลุ่มประเทศ ที่มีมาตรการการเฉพาะเพื่อลดโลกร้อนชัดเจนที่สุด ขณะที่จีน ญี่ปุ่น และอาเซียน ไม่มีนโยบายหรือมาตรการเฉพาะสำหรับการลดโลกร้อน แต่ประเทศเหล่านี้จะมีกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมเหมือนกันอยู่แล้ว เช่น จีนมี กฎหมายการควบคุมการปล่อยมลพิษจากอุตสาหกรรม (Air Pollution Prevention and Control Law) ญี่ปุ่นมี Climate Change Act เป็นต้น
ทั้งนี้แรงกดดันการลด GHG จะอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนา ทั้ง จีน อินเดีย และอาเซียน ที่อยู่ในระยะของการออกมาตรการและกฎหมาย เพื่อลด GHG เพราะกรอบระยะเวลาของการลด GHG ขยับเข้ามาเรื่อย ๆ ประเทศส่วนใหญ่ตั้งไว้คือ ปี 2030 (2573) (เหลืออีก 6 ปี) ที่ต้องลดลง 50% และปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2050(2593) ฉะนั้นความเข้มข้นของการใช้มาตรการลด GHG ของสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่นจะรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ หลังจากนี้เป็นต้นไป ซึ่งคาดว่าสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป จะออกมาตรการลด GHG เพิ่มขึ้นอีก
อย่างไรก็ตามในมาตรการหลักเพื่อลด GHG ของสหรัฐและอียู ที่ได้นำมาใช้แล้ว เช่น สหรัฐมีมาตรการ Inflation Reduction Act (IRA) ที่มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วในปี 2022 (2565) สาระสำคัญ คือ 1.ลดก๊าซเรือนกระจกของสหรัฐฯ ลง 40% ภายในปี 2030 (2573) 2.มีเครดิตด้านภาษีให้บริษัทและครัวเรือนที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 3.มีเครดิตด้านภาษีผู้ที่ซื้อรถยนต์ไฟฟ้า 4.ผลิตเทคโนโลยีสีเขียวในแผงพลังงานแสงอาทิตย์ แบตเตอรี่ เป็นต้น 5.สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด
สหภาพยุโรป มีมาตรการ European Green Deal มีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบแล้วตั้งแต่ปี 2019 (2562) สาระสำคัญ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ EU ลง 55% ในปี 2030 (2573) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 (2593) ล่าสุดมีมาตรการ EUDR ห้ามนำเข้าสินค้าที่ตัดไม้ทำลายป่า น้ำตาล กาแฟ โกโก้ น้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง ไม้และผลิตภัณฑ์ บังคับใช้เต็มรูปแบบในปี 2025 (2568) และมาตรการ CBAM สาระสำคัญ เพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน” (carbon leakage) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยกลไกนี้จะบังคับใช้ภาษีคาร์บอนกับสินค้านำเข้า ซึ่งจะมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ ในวันที่ 1 มกราคม 2026 (2569)
“หากผู้ประกอบการส่งออกไทยปฏิบัติตาม และไม่ปฏิบัติตามมาตรการของประเทศคู่ค้า ตัวอย่าง เช่น มาตรการ IRA ของสหรัฐ ในสินค้าที่จะได้รับผลด้านบวก ทำให้มีโอกาสในตลาดสหรัฐเพิ่มขึ้น ในสินค้าพลังงานสะอาด เช่น แผงโซลาร์เซลล์ ชิ้นส่วนกังหันลม และกลุ่มสินค้าที่ลดการปล่อยคาร์บอน ส่วนด้านลบคือ สินค้าพลังงานสะอาดของไทยต้องแข่งขันกับสินค้าประเภทเดียวกันกับคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่า ขณะที่มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดจะทำให้สินค้าเหล่านี้เข้าตลาดยากขึ้น ส่วนด้านการลงทุน จะได้รับผลบวกในการร่วมลงทุนในสินค้าที่ใช้พลังงานสะอาด แต่ด้านลบคือ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นจากการปรับปรุงเทคโนโลยีตามมาตรฐาน IRA”
ขณะที่มาตรการ CBAM ของอียูเน้นใน 6 สินค้าอุตสาหกรรมได้แก่ เหล็ก อลูมิเนียม ปุ๋ย ไฮโดรเจน ซีเมนต์ และไฟฟ้า จะเก็บภาษีคาร์บอนข้ามพรมแดน (CBAM) ในต้นปี 2569 และหลังจากปี 2569 เป็นต้นไป สินค้าอื่น ๆ ที่นอกเหนือจาก 6 สินค้าข้างต้นจะถูกเก็บภาษีคาร์บอนเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่สูง และราคาส่งออกไปยุโรปแพงขึ้น ทำให้ศักยภาพการแข่งขันลดลง ทั้งนี้คาดว่าใน 6 สินค้าของไทยเมื่อถูกเก็บภาษีภายใต้ CBAM หากไม่มีการปรับตัวเพื่อลด GHG จะทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง 16.51 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2569 โดยเหล็กไทยจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกลดลงมากที่สุด
อย่างไรก็ดี ในภาพรวมการรับมือมาตรการ CBAM ของไทย ความการตื่นตัวและปรับตัวเพื่อรองรับ CBAM ยังอยู่ในกลุ่มผู้ประกอบการขยายใหญ่เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะสินค้า 6 ชนิดที่เก็บภาษี เป็นสินค้าอุตสาหกรรมชนาดใหญ่ ขณะที่รัฐบาลยังไม่มีนโยบายด้านการเงินและด้านอื่น ๆ รวมถึงแรงจูงใจในการช่วยเหลือเพื่อปรับตัวภายใต้ CBAM ซึ่งในอนาคต เมื่อ CBAM บังคับใช้กับสินค้าอื่นๆ จะทำให้ SMEs ไทยมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น การแข่งขันในตลาดยุโรปจะยากขึ้น และจะส่งผลต่อส่วนแบ่งตลาดที่ลดลง
หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4028 วันที่ 19-21 กันยายน พ.ศ. 2567