net-zero

คลังรื้อภาษีแบตเตอรี่ คิดอัตราขั้นบันได จูงใจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

    “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รมช.คลัง ชี้สรรพสามิตเตรียมรื้อโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ คิดอัตราขั้นบันได ชูไอเดียภาษีย้อนกลับ หนุนธุรกิจมุ่งเศรษฐกิจสีเขียว

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษ “นโยบายการเงินสีเขียว รับมือภาวะโลกเดือด” ในงานสัมมนา Road to Net Zero 2024 The Extraordinary Green จัดโดย นสพ.ฐานเศรษฐกิจ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.67 ว่า  กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพสามิต อยู่ในช่วงพิจารณาปรับโครงสร้างภาษีแบตเตอรี่ ซึ่งปัจจุบันใช้ภาษีแบตเตอรี่อัตราเดียว ที่ 8% ไม่ว่าจะเป็นแบตเตอรี่ชนิดใดก็ตาม 

นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

อย่างไรก็ตาม ระยะต่อไปนี้จะใช้อัตราภาษีแบตเตอรี่ระบบขั้นบันได เนื่องจากแบตเตอรี่แต่ละชนิด สร้างขึ้นมามีความแตกต่างกัน การจัดเก็บภาษีก็ควรมีความแตกต่างกัน ทั้งนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตแบตเตอรี่สะอาดขึ้น เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 

ขณะเดียวกัน ตนยังมีกรอบแนวคิดการให้ภาษีย้อนกลับ สำหรับธุรกิจที่ปรับตัวไปสู่การเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม หรือเป็นธุรกิจที่สะอาดได้ โดยอยู่ระหว่างพิจารณาว่าใครสามารถพิสูจน์ตัวเองได้ว่าสะอาด ก็จะได้รับอะไรสักอย่างตอบแทน

“ถ้าธุรกิจพิสูจน์ได้ว่าสะอาด หรือเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจสีเขียว เรามองว่าก็ควรจะมีอะไรสักอย่างเป็นการตอบแทน เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นเกิดพฤติกรรมเลียนแบบว่าได้รับสิทธิประโยชน์อย่างไร ซึ่งก็เป็นมาตรฐานปกติในต่างประเทศ”

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังยังอยู่ระหว่างการพิจารณาภาษีคาร์บอนขั้นสุดท้าย คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในปี 2567 นี้ โดยแนวคิดการเดินหน้าภาษีคาร์บอน หรือ Carbon Tax นั้น เกิดจากปัญหาหลักของประเทศไทยสำคัญที่สุด คือ คนผลิตที่ไม่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ถูกจ่ายราคาในการสร้างมลพิษ ซึ่งเวลานี้มีความสำคัญ หากไม่มีราคาที่ต้องจ่ายในการสร้างมลพิษ ทุกคนก็ปล่อยมลพิษ 

คลังรื้อภาษีแบตเตอรี่ คิดอัตราขั้นบันได จูงใจเป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

นายเผ่าภูมิ กล่าวว่า ฉะนั้น สิ่งที่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในประเทศ คือ ราคาของคาร์บอน (Carbon price) ซึ่งกรมสรรพสามิตได้คิดกลไกผ่านการสร้างภาษีคาร์บอน ที่เข้าไปในสินค้าที่ผลิต หรือสร้างมลพิษสูง เช่น น้ำมัน แต่ไม่ทำให้ราคาสินค้าเหล่านี้สูงขึ้น เพราะเราใช้การปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายในของกรมสรรพสามิต 

“ยกตัวอย่างวิธีการคำนวณ เช่น เดิมการเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 6 บาท หากปรับเปลี่ยนแล้วจะกลายเป็นเสียภาษีสรรพสามิตน้ำมัน 5 บาท แต่ส่วนที่เหลือเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ราคาที่ประชาชนต้องจ่ายภาษีน้ำมันเท่าเดิม ซึ่งสมการคิดของภาษีคาร์บอน คือ นำคาร์บอนที่อยู่ในน้ำมัน คูณด้วยราคาต่อยูนิต ออกมาเป็นราคาที่ประชาชนต้องจ่ายเป็นภาษีคาร์บอน ฉะนั้น ต่อจากนี้ประเทศไทยจะมีราคาของคาร์บอนอยู่ในสินค้าที่ผลิตคาร์บอน“