net-zero

กฎกติกาการค้าโลกเข้ม ธุรกิจ"เกษตร-อาหาร" ต้องเร่งปรับตัว

    การออกกฎระเบียบทางการค้าใหม่ ๆ ที่มุ่งเน้นเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมีแนวโน้มที่จะบังคับใช้มาตรฐานและกฎระเบียบ ในด้านการจัดหาวัตถุดิบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือ Sustainable Sourcing ที่เข้มงวดมากขึ้น

ทั้งนี้กำลังจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของไทย หากผู้ประกอบการปรับตัวไม่ทัน โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ในธุรกิจเกษตรและอาหารกลางนํ้าและปลายนํ้า ได้แก่ ผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่มเนื้อสัตว์แปรรูป อาหารทะเลแปรรูป และผลิตภัณฑ์ที่ใช้นํ้าตาลเป็นวัตถุดิบหลัก เช่น ขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด ซึ่งในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกรวมกันถึง 2 แสนล้านบาทต่อปี หรือ คิดเป็นราว 20% ของมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี จะได้รับผลกระทบโดยตรง

ทั้งนี้ จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) พบว่าภาคเกษตรและอาหารไทย เป็นภาคที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 25% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด โดยเฉพาะกิจกรรมต้นนํ้าจากการผลิตวัตถุดิบการเกษตร เช่น การเพาะปลูก การเลี้ยงสัตว์ ที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงถึง 70% ของห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดในภาคเกษตรและอาหาร

ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้ให้เห็นว่า ผู้ประกอบการกลางนํ้าและปลายนํ้าใช้วัตถุดิบในการผลิตจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เป็น SMEs ทำให้อาจไม่พร้อมในการเผชิญกับมาตรฐานด้านการค้าต่าง ๆ ที่เข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบการสินค้าบริโภค กลุ่มผักและผลไม้แปรรูป เนื้อสัตว์แปรรูป และอาหารทะเลแปรรูป ที่มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% ของผู้ประกอบการท้ังหมดในแต่ละสินค้า ประกอบกับพึ่งการส่งออกต่อผลผลิตมากกว่า 60% เช่นเดียวกับสินค้าในกลุ่มอุปโภค ได้แก่ ยางรถยนต์ และถุงมือยางก็มีสัดส่วนผู้ประกอบการ SMEs มากกว่า 80% และพึ่งการส่งออกต่อผลผลิตเกิน 60%

กฎกติกาการค้าโลกเข้ม ธุรกิจ\"เกษตร-อาหาร\" ต้องเร่งปรับตัว

ดังนั้น มิติด้านการลด Emission จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความสำคัญ เนื่องจากเป็นเทรนด์ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญ เพราะเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างชัดเจน นำมาซึ่งกฎระเบียบทางการค้าที่จะเป็นอุปสรรคสำหรับการส่งออกของไทย โดยเฉพาะกลุ่มกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารกลางนํ้าและปลายนํ้า ที่ต้องปรับตัวสู่การจัดหาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Sourcing ก่อน ได้แก่

ผู้ประกอบการสินค้าในกลุ่มกุ้งแช่แข็ง เนื้อไก่ปรุงรส เนื้อปลาบด ปลาแช่แข็ง ปลาทูน่ากระป๋อง ปลาหมึกแช่แข็ง และขนมหวาน ลูกอม ลูกกวาด เนื่องจากเป็นสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากการจัดหาวัตถุดิบในสัดส่วนที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับสินค้าในกลุ่มเกษตรและอาหารกลางนํ้าและปลายนํ้า อื่น ๆ โดยมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยซึ่งอยู่ที่ 4 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ เทียบเท่าต่อผลผลิตสินค้า 1 กิโลกรัม

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS ชี้แนะว่า ผู้ประกอบการไทยในกลุ่มต่างๆจึงควรเร่งปรับตัว ตั้งแต่การเลือกวัตถุดิบที่มาจากการผลิตที่มีความรับผิดชอบ เช่น การเกษตรที่ยั่งยืน และการประมงที่มีการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ

สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการลดผลกระทบ ต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างห่วงโซ่อุปทานที่รับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียยนในโรงงาน และการจัดการฟาร์มเลี้ยงสัตว์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ ยั่งยืนและการประเมินและรายงานคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นต้น

ดังนั้น การยกระดับไปสู่ Sustainable Sourcing โดยการสร้างความร่วมมือกันทั้ง Ecosystem ตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เกษตรกร ผู้ประกอบการแปรรูปกลางนํ้าและปลายนํ้า โดยภาครัฐเป็นแกนหลักในการยกระดับมาตรฐานและการรับรองจะเป็นอีกหนึ่งเส้นทางที่ยั่งยืนของภาคเกษตร และอาหารสู่เป้าหมาย Net Zero ในการช่วยให้ลดแรงกดดันจากมาตรการของคู่ค้าและเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ในตลาดโลกอย่างทัดเทียม