วิกฤต “ร้านอาหาร” 3 ปีเจ๊ง 6 แสนร้าน สมาคมภัตตาคารไทย ชง 4 ทางรอด

20 ก.ย. 2567 | 23:15 น.

วิกฤตร้านอาหาร 3 ปีเจ๊งเฉียด 6 แสนร้าน พิษเศรษฐกิจชะลอตัว กำลังซื้อหด ต้นทุนสูง การแข่งขันเดือด แนะ 4 สูตรทางรอด นำเทคโนโลยีเสริมแกร่ง สร้างจุดเด่นแตกต่างเหนือคู่แข่ง เน้นอาหารสุขภาพและยั่งยืน นำเสนอเทรนด์ใหม่ทันกระแสโลก

ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยยังคงเผชิญกับความท้าทายอย่างหนัก จากสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ต้นทุนที่สูงขึ้น และกำลังซื้อชะลอตัว ส่งผลให้ธุรกิจร้านอาหารไทยเป็น “สมรภูมิ” ที่เต็มไปด้วยการแข่งขันที่ดุเดือด

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี (ttb analytics) ระบุว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารในปี 2567 คาดว่าจะมีมูลค่า 6.69 แสนล้านบาท แสดงให้เห็นถึงศักยภาพของตลาด แต่ในขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของการแข่งขันเช่นกัน

โดยสํานักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ภาพรวมการจัดตั้ง-เลิกกิจการของธุรกิจร้านอาหารในปี 2566 (ม.ค.-ก.ค.) นิติบุคคลกลุ่มร้านอาหารจัดตั้ง เลิกกิจการ 284 ราย เพิ่มขึ้น 11.27% เมื่อเทียบกับปีก่อน

ขณะที่ Lineman Wongnai ระบุว่า ธุรกิจร้านอาหารในประเทศไทยกำลังเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงในปีที่ผ่านมา มีร้านอาหารเปิดใหม่เพิ่มขึ้น มากกว่า 1 แสนร้าน เติบโต 13.6% เมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้จำนวนร้านอาหารทั้งหมดในประเทศไทยพุ่งสูงขึ้นเป็น 680,190 ร้าน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีร้านอาหารเปิดใหม่จำนวนมาก แต่ก็มีร้านอาหารจำนวนไม่น้อยที่ต้องปิดตัวลง โดยข้อมูลระบุว่า ภายในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีร้านอาหารราว 50% ที่ต้องปิดกิจการ และหากพิจารณาในระยะเวลา 3 ปีให้หลัง จะพบว่ามีร้านอาหารถึง 65% ที่ปิดตัวลง

วิกฤต “ร้านอาหาร” 3 ปีเจ๊ง 6 แสนร้าน สมาคมภัตตาคารไทย ชง 4 ทางรอด

ได้แก่ ฟู้ดทรัค ลดลง 63.8% ข้าวต้มมื้อดึก ลดลง 44.3% พิซซ่าลดลง 39.2% อาหารทะเลลดลง 36.1% และหมูกระทะลดลง 31.7% ตามลำดับ สถิติเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าอัตราการอยู่รอดของธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบันนั้นต่ำลง

สอดคล้องกับ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย ที่เปิดเผยข้อมูลกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สาเหตุที่ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดตัวลง มาจากไม่สามารถปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง ร้านอาหารที่ยังคงใช้วิธีการเดิมๆ ในการดำเนินธุรกิจ

ซึ่งอาจไม่สามารถแข่งขันกับคู่แข่งรายใหม่ๆ ที่มีความทันสมัยกว่าได้ และการไม่สามารถควบคุมต้นทุน ทำให้เกิดปัญหาขาดทุนและต้องปิดตัวลง ที่สำคัญร้านไม่เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ร้านอาหารไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้

นางฐนิวรรณ กุลมงคล

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด คือ กรณีของร้านชาบูสุกี้รายใหญ่ที่เคยประสบความสำเร็จมาหลายสิบปี แต่ปัจจุบันกลับต้องเผชิญกับปัญหาการแข่งขันที่รุนแรงจากร้านอาหารรายใหม่ๆ ที่มีราคาถูกกว่าและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ดีกว่า

“สถานการณ์ของธุรกิจร้านอาหารไทยในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมาค่อนข้างน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะร้านอาหารขนาดใหญ่หรือภัตตาคารที่มักได้รับอานิสงส์จากการจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ เช่น งานเลี้ยงเกษียณอายุ ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซั่น

แต่ปีนี้กลับพบว่าจำนวนการจองงานเลี้ยงลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทำให้รายได้ของร้านอาหารกลุ่มนี้หดหายไปเป็นจำนวนมาก”

ร้านอาหารขนาดใหญ่ ที่มีชื่อเสียงหรือได้รับรางวัล เช่น ร้านอาหารที่ได้รับดาวมิชลิน ยังคงสามารถดึงดูดลูกค้าได้อยู่บ้าง แต่สำหรับร้านอาหารขนาดกลาง ที่ไม่มีจุดเด่นเฉพาะตัว หรือร้านอาหารทั่วไป เช่น สวนอาหาร รายได้ลดลงถึง 40% ซึ่งหมายความว่าร้านอาหารเหล่านี้สูญเสียกำไรไปทั้งหมด และต้องใช้เงินทุนส่วนตัวในการดำเนินธุรกิจต่อไป

สาเหตุหลักที่ทำให้ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วงนี้ อาจเป็นผลมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผู้บริโภคลดค่าใช้จ่ายส่วนเกิน และหันมาทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากำลังซื้อโดยรวมจะลดลง แต่พฤติกรรมการบริโภคอาหารนอกบ้านของคนไทยยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะกลุ่มคนทำงานที่ยังคงต้องการความสะดวกสบายในการรับประทานอาหาร แต่ผู้บริโภคจะเลือกซื้ออาหารในราคาที่ไม่สูงมากนัก

เพื่อให้ธุรกิจร้านอาหารสามารถอยู่รอดได้ในสถานการณ์ปัจจุบัน ร้านอาหารทุกแห่งจำเป็นต้องปรับตัวใช้เทคโนโลยีในการดำเนินธุรกิจ เช่น การทำการตลาดออนไลน์ การบริหารสต๊อก และการรับออร์เดอร์ผ่านช่องทางออนไลน์ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ร้านอาหารสามารถแข่งขันได้

วิกฤต “ร้านอาหาร” 3 ปีเจ๊ง 6 แสนร้าน สมาคมภัตตาคารไทย ชง 4 ทางรอด

อีกทั้งต้องสร้างจุดเด่น แตกต่างจากคู่แข่ง เช่น รสชาติอาหารที่เป็นเอกลักษณ์ หรือบรรยากาศร้านที่น่าสนใจ จะช่วยดึงดูดลูกค้าได้ รวมถึงการควบคุมต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ร้านอาหารสามารถกำหนดราคาอาหารได้ และที่สำคัญทำความเข้าใจพฤติกรรมของลูกค้า จะช่วยให้ร้านอาหารสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้

นางฐนิวรรณ กล่าวอีกว่า แนวโน้มของธุรกิจร้านอาหารในอนาคต มีปัจจัยท้าทายมากมาย แต่ธุรกิจร้านอาหารยังคงมีความมั่นคงและเติบโตได้ เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารของคนไทยที่มีจำนวนมากถึง 60 ล้านคน

และจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมอาหารไปด้วย

“การที่คนไทยต้องบริโภคอาหารอย่างน้อยวันละ 3 มื้อ และนักท่องเที่ยวต่างชาติต้องการลิ้มลองอาหารไทย ทำให้ธุรกิจร้านอาหารยังคงมีความต้องการอยู่เสมอ สิ่งที่สำคัญคือผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวและพัฒนาธุรกิจของตนเองให้มีความแข็งแกร่ง เพื่อให้สามารถอยู่รอดและเติบโตได้ในระยะยาว”

สำหรับเทรนด์อุตสาหกรรมร้านอาหาร ภัตตาคารในอนาคต กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีเทรนด์ที่น่าจับตามอง ได้แก่

1.อาหารที่ผลิตจากวัตถุดิบทางเลือก เช่น อาหารจากพืช อาหารจากแมลง และอาหารที่ผลิตในห้องปฏิบัติการ

2.การให้ความสำคัญกับบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

3.การใช้ AIในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ๆ เช่น การพัฒนาเมนูอาหารที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าแต่ละราย

4.การเพิ่มขึ้นของร้านอาหารแบบดีลิเวอรีและเทคอะเวย์ เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป

แม้ว่าอุตสาหกรรมร้านอาหารจะเผชิญกับความท้าทายมากมาย แต่ก็ยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูง ผู้ประกอบการที่สามารถปรับตัวและสร้างสรรค์นวัตกรรม จะสามารถคว้าโอกาสทางธุรกิจและเติบโตได้อย่างยั่งยืน

 

หน้า 15 ฉบับที่ 4,029 วันที่ 22 - 25 กันยายน พ.ศ. 2567